EXIM BANK จับมือ MARSH PB คุ้มครองความเสี่ยงผู้ประกอบการไทย ขยายการค้าการลงทุน ภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์
EXIM BANK ร่วมกับบริษัทนายหน้าประกันภัยและที่ปรึกษาความเสี่ยงชั้นนำของโลก “MARSH PB” จัดสัมมนา “Geopolitical Perspective : From Tension to Solutions” เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในปัจจุบัน และการใช้เครื่องมือทางการเงินทั้งสินเชื่อและเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงขยายโอกาสการค้าการลงทุนโลก ให้แก่ผู้ประกอบการไทยจำนวนกว่า 100 ราย เพื่อนำไปใช้วางแผนธุรกิจให้สามารถรับมือกับปัจจัยท้าทายและสร้างธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยมี ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมด้วยนางสาวซีรีน ซู ผู้บริหารระดับสูง ฝ่ายงานผลิตภัณฑ์การประกันภัย ความเสี่ยงภัยด้านการลงทุนและการประกันภัยเฉพาะทางด้านสินเชื่อ-ภูมิภาคเอเชีย MARSH Credit Specialty Singapore นายปิยภักดิ์ ศรีเจริญ อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ร่วมเป็นวิทยากร ณ โรงแรมเดอะ เซนต์ รีจิส กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567
ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า บริบทการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตเกิดจากความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก นำมาซึ่งความผันผวน โดยเฉพาะความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่เป็นความเสี่ยงต่อการค้าโลก ผู้ส่งออกจึงควรพร้อมรับมือและรู้จักการป้องกันความเสี่ยงอย่างครบวงจร เนื่องด้วยที่ผ่านมา Geopolitics ได้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของโลกไปจนถึงภาคธุรกิจทั้งด้านการค้าและการลงทุน โดยความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ รวมถึงสงครามในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ขยายวงกว้างและเริ่มบานปลายล้วนส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนการขนส่งสินค้าที่อาจเพิ่มขึ้นจากเส้นทางการเดินเรือได้รับผลกระทบ ไปจนถึงราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ นอกจากนี้ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กำลังจะเกิดขึ้นถือเป็นเหตุการณ์สำคัญในการกำหนดทิศทาง Geopolitics โลกในระยะถัดไป ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อการค้าการลงทุนโลกเป็นวงกว้าง เนื่องจากที่ผ่านมาทั้ง Trade War และ Tech War ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ต่างส่งผลต่อรูปแบบห่วงโซ่อุปทานโลก ไม่ว่าจะเป็นการย้ายฐานการผลิตกลับประเทศของสหรัฐฯ (Reshoring) หรือการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่เป็นมิตรหรือประเทศที่วางตัวเป็นกลางเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากสงครามการค้า และยิ่งไปกว่านั้นนโยบายทางการเมืองของสหรัฐฯ นับเป็นตัวแปรที่จะมีอิทธิพลมากต่อสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในหลายภูมิภาคในระยะข้างหน้า
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวอีกว่า ภาคของการส่งออกไทยที่เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมาอย่างยาวนาน ปัจจุบันมีสัดส่วนราว 55% ของ GDP แม้ภาคการส่งออกของไทยจะเผชิญกับความผันผวนของบริบทการค้าโลกจาก Geopolitics ตัวเลขการส่งออกไทยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2567 ยังสามารถขยายตัวได้ดีกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ที่ 4% และคาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยในปี 2567 จะยังขยายตัวจากปัจจัยสนับสนุนหลายประการ ทั้งจากเศรษฐกิจและการค้าโลกที่มีศักยภาพในการเติบโต และยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้เศรษฐกิจไทยเติบโตต่อเนื่อง
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง EXIM BANK และ MARSH PB มุ่งเน้นสร้างองค์ความรู้และความมั่นใจให้แก่ผู้ประกอบการและนักลงทุนไทย ผ่านมุมมองการวิเคราะห์ถึงสถานการณ์และแนวโน้มของปัญหา Geopolitics ตลอดจนคำแนะนำถึงกลยุทธ์และเครื่องมือทางการเงินในการรับมือกับความผันผวนที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะบริการประกันการส่งออกและการลงทุน ในการรับมือกับความท้าทายจาก Geopolitics ในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทั้งสองหน่วยงานจะส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทย
มีความพร้อมที่จะเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจระหว่างประเทศได้มากขึ้นอย่างมั่นใจท่ามกลางความท้าทายจากสถานการณ์ Geopolitics โลกที่เกิดขึ้นในขณะนี้ พร้อมช่วยให้ภาคธุรกิจไทยเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง เสริมสร้างความเข้าใจในสถานการณ์ในยุคปัจจุบัน และช่วยเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มั่นคงยั่งยืนในอนาคต
“ความร่วมมือกับ MARSH PB ในครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งภารกิจของ EXIM BANK ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังที่มุ่งดำเนินบทบาทธนาคารเพื่อการพัฒนาโดยขยายความร่วมมือกับพันธมิตร เติมเต็มข้อมูลความรู้ โอกาสและเครือข่ายทางธุรกิจ ตลอดจนเครื่องมือทางการเงิน รวมถึงเครื่องมือบริหารความเสี่ยงด้านการส่งออกและลงทุนให้ผู้ประกอบการไทยได้ก้าวเป็นนักรบเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและแข่งขันได้อย่างยั่งยืนในตลาดการค้าและประเทศเป้าหมายการลงทุนที่มีจำนวนมากมายในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก” ดร.รักษ์ กล่าว