Bangkok City Lab ยกระดับย่านปุณณวิถี สู่เมืองต้นแบบย่านนวัตกรรมไซเบอร์เทคแห่งอนาคต
ย่านนวัตกรรมไซเบอร์เทคกรุงเทพมหานคร หรือย่านนวัตกรรมปุณณวิถี (ตั้งอยู่ระหว่างBTS ปุณณวิถีและอุดมสุข กรุงเทพมหานคร) เป็นพื้นที่เป้าหมายของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ในการพัฒนาไปสู่ศูนย์กลางระบบนิเวศนวัตกรรมสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ เป็นพื้นที่แห่งโอกาสในการเริ่มต้นทำธุรกิจใหม่ๆ ของกรุงเทพมหานคร จึงผสานความร่วมมือกับกลุ่มทรู และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ บริเวณปุณณวิถี-อุดมสุข ยกระดับพื้นที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ อาคารศูนย์กลางการทำธุรกิจนวัตกรรม ตลอดจนถึงอบรมบ่มเพาะ การจับคู่ธุรกิจ และการแบ่งปันองค์ความรู้ในพื้นที่ตลอดมา
ด้วยพันธกิจหลักของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ที่ต้องการจะยกระดับพื้นที่เศรษฐกิจของเมืองที่ให้เกิดการรวมกลุ่มของนวัตกรเพื่อแบ่งปันองค์ความรู้และทรัพยากรอย่างเต็มประสิทธิภาพและสร้างความร่วมมือในการผลักดันระบบนิเวศนวัตกรรมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจและสามารถดึงดูดกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมและธุรกิจใหม่จึงได้เกิดเป็นความร่วมมือกันระหว่างสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน),True Digital Park ร่วมด้วยสำนักงานเขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เกิดเป็นโครงการ ห้องทดลองเมือง (City Lab) ย่านนวัตกรรมปุณณวิถี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการในความร่วมมือของภาคีเครือข่ายเพื่อยกระดับเพื่อที่ปุณณวิถีให้เป็นพื้นที่ทดลองทางนวัตกรรม (Test Base Area) และช่วยส่งเสริมให้ Startup หรือ SMEs นำไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ Solutions ทางนวัตกรรมมาใช้แก้ไขปัญหาเมือง หรือเพิ่มบริการสาธารณะ ที่ทำให้เมืองน่าอยู่ มีความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตให้กับคนเมือง รวมถึงเพิ่มโอกาสใหม่ให้กับคนได้สร้างรายได้มากยิ่งขึ้น
โดยในวันที่ 4 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมาได้มีการจัดงานแถลงข่าว “การใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนย่านนวัตกรรมปุณณวิถี” ภายใต้โครงการ Bangkok City Lab ห้องทดลองเมือง ย่านนวัตกรรมไซเบอร์เทค กรุงเทพมหานคร ณ ห้อง Auditorium ชั้น 6 อาคาร ทรู ดิจิทัล พาร์ค ได้รับเกียรติจาก ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงาน นวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวถึงแนวคิดการพัฒนาและการสร้างความร่วมมือย่านนวัตกรรม รวมไปถึงบทบาทของของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ในพัฒนา และผลักดันย่านนวัตกรรมปุณณวิถีสู่การเป็นเมืองต้นแบบ“ย่านนวัตกรรมไซเบอร์เทค กรุงเทพมหานคร (Bangkok Cybertech District)” ศูนย์กลางดิจิทัลและไลฟ์สไตล์ของคนเมืองยุคใหม่ที่สามารถสร้างโอกาสในการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ดำเนินโครงการนวัตกรรมเชิงพื้นที่ หรือ Area-Based Innovation เพื่อขับเคลื่อนการสรทางระบบนิเวศนวัตกรรมในประเทศไทยให้มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยและทำงาน ซึ่งมีการดำเนินงานใน 3 ระดับ คือ ภูมิภาค เมืองนวัตกรรม และย่านนวัตกรรม โดยนวัตกรรมเชิงพื้นที่เริ่มจาก “เมือง” เป็นโจทย์สะท้อนอัตลักษณ์ และบริบทของเมืองนั้นๆทำให้เกิดการสร้างและใช้นวัตกรรมที่ตอบสนองต่อการดำเนินชีวิตรูปแบบใหม่ และมุ่งเน้นการเชื่อมโยงคน องค์ความรู้ เครือข่ายและโครงสร้างพื้นฐานเข้าด้วยกัน ซึ่งส่วนที่เล็กที่สุดของการพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่ คือ ย่านนวัตกรรม ที่มีอัตลักษณ์ความโดดเด่นและศักยภาพแตกต่างกันเฉพาะพื้นที่ทำให้เกิดการเชื่อมโยงกลุ่มเศรษฐกิจของเมืองเข้าด้วยกัน โดยกว่า 6 ปีที่ผ่านมาสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้พัฒนาย่านนวัตกรรมแล้วกว่า 14 ย่าน
“โครงการ ห้องทดลองเมือง (City Lab) ย่านนวัตกรรมปุณณวิถี ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการในความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทั้งจากภาครัฐและเอกชน อย่างสำนักงานเขตพระโขนง บริษัทขนาดใหญ่ เช่น ทรู ดิจิตัล พาร์ค มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ภาคเอกชนในพื้นที่กว่า 8 บริษัท และชุมชนในย่านปุณณวิถี เพื่อยกระดับย่านปุณณวิถีให้เป็นพื้นที่ทดลองทางนวัตกรรม (Test Base Area) ช่วยส่งเสริมให้สตาร์ทอัพ Daywork ที่ผ่านการคัดเลือก นำไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ Solutions ทางนวัตกรรมมาทดลองใช้และพัฒนาแพลตฟอร์มให้ตอบโจทย์ เพื่อเกื้อประโยชน์ให้ย่าน และผู้อยู่อาศัยในย่านภายใต้โจทย์ “ทำอย่างไรให้คนที่ว่างงานในชุมชนย่านนวัตกรรมไซเบอร์เทค มีโอกาสได้รับการจ้างงานจากคนในพื้นที่ย่านปุณณวิถี และพื้นที่ข้างเคียงอย่างยั่งยืน” ตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา เปรียบเสมือนเป็นพื้นที่นำร่องหรือสนามทดลองนวัตกรรมขนาดใหญ่ เพื่อใช้ยืนยันประสิทธิภาพก่อนนำไปขยายผลระดับเมืองอื่นๆต่อไป
และนอกจากนี้ภายในงานจะมีการจัดเสวนาอีก 2 หัวข้อได้แก่ หัวข้อ “ก้าวต่อไปของย่านนวัตกรรม ณ กรุงเทพมหานคร” (Next Move of Bangkok Innovation District)โดยได้รับเกียรติจาก ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง,รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์, นายกสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย พร้อมด้วย ดร. ธาริต นิมมานวุฒิพงษ์, ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ทรู ดิจิทัล พาร์ค จำกัด มาร่วมกล่าวถึงความพร้อมและความสำเร็จในการขับเคลื่อนพื้นที่ปุณณวิถี-อุดมสุข ให้กลายเป็นศูนย์กลางพื้นที่สำหรับ Start Up ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ทั้งในเชิงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานจากภาคเอกชน การขับเคลื่อนนโยบายของภาครัฐ และการรวมกลุ่ม/กิจกรรมต่างๆของ Start Up พร้อมทั้งนำเสนอโอกาสความเป็นไปได้ในการเริ่มต้นธุรกิจ และนโยบายที่ช่วยส่งเสริมให้ Start Up เติบโตในพื้นที่แห่งนี้ ร่วมถึงความร่วมมือในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมในกรุงเทพมหานครและหัวข้อ “จากห้องทดลองเมือง สู่เรื่องจริงของคนกรุงเทพ” (The Real Story of City Lab in Bangkok Cyber District) นำโดยคุณศศิวิมล เสียงแจ้ว ประธานกรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เดย์เวิร์ค (ประเทศไทย) จำกัด, ผศ.ดร.ฤทธิรงค์ จุฑาพฤฒิกร, คณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ในฐานะที่ปรึกษาโครงการฯ ร่วมด้วยคุณวรุณลักษม์ พลหาญ ผู้อำนวยการเขตพระโขนง และคุณนวนันท์ การสมดี รองผู้อำนวยการ สำนักประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซี.เจ. เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป จำกัด ที่มาร่วมบอกเล่าเรื่องราวต่างๆของโครงการ Bangkok City Lab ห้องทดลองเมืองย่านนวัตกรรมไซเบอร์เทค กรุงเทพมหานครในตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมาที่ได้ทำการทดลอง โดยเริ่มตั้งแต่การเลือกพื้นที่ทำการทดลอง, ความท้าทายที่มีในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ หรือด้านสิ่งแวดล้อม และรูปแบบของการทำงานของสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการที่มีการร่วมมือจากหลากหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ผ่านการจัดกิจกรรมต่างๆ อาทิ การทำ CO-DESIGN ร่วมกับผู้แทนจากสํานักเขต และ ผู้ประกอบการในพื้นที่ และกิจกรรม WORKSHOP ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาเมือง พร้อมด้วยการทำ JOB HOUSING BALANCE และการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งาน โดยได้ร่วมกับผู้แทนจากสํานักเขตและผู้ประกอบการ ซึ่งผลการดําเนินงานในเขตพระโขนง พบว่าในช่วงระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา มีจำนวนอัตราตำแหน่งงานว่างที่เปิดรับเพิ่มขึ้นถึง 86 อัตรา โดยเพิ่มขึ้นจากเดิม 209.76% และอัตราของประชาชนในเขตพื้นที่ที่มีความต้องการตำแหน่งงานและหางานเพิ่มขึ้นถึง 1,162 คน ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นจากเดิม83.34% และเพิ่มการจ้างงานในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลกว่า 3,167 งาน ซึ่งสามารถประเมิณเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นได้กว่า 21 ล้านบาท ถือเป็นการเพิ่มโอกาสให้นายจ้างสามารถเข้าถึงกลุ่มคนทำงานในพื้นที่ และช่วยเพิ่มโอกาสในการได้คนทำงาน รวมถึงความสำคัญและผลลัพธ์เชิงบวกในด้านอื่นๆของการทดลองภายในย่านพระโขนงที่มีความหวังที่จะพัฒนาย่านนวัตกรรมนี้ให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องอย่างยั่งยืน โดยในอนาคตจะร่วมมือกับภาครัฐในการขยายผลโครงการไปทุกเขตทั่วกรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างการจ้างงานให้กับคนกรุงเทพให้เพิ่มขึ้นกว่า 50,000 อัตรา เพื่อเป็นการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ มีผลิตภาพ และการมีงานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน รวมถึงเป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความทนทาน ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรมของประเทศไทยอีกด้วย