กรุงศรีคาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 32.90-33.65 ติดตามเงินเฟ้อสหรัฐฯ ตะวันออกกลางตึงเครียด

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ประเมินเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่ามีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.90-33.65 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 33.04 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายช่วงกว้างระหว่าง 32.14-33.20 บาท/ดอลลาร์ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 31 เดือนครั้งใหม่ก่อนจะพลิกอ่อนค่า ขณะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมาขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯพุ่งขึ้นหลังประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)แสดงความเห็นเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและคาดว่าเฟดอาจจะลดดอกเบี้ยลงอีก 2 ครั้งในปีนี้รวม 50bp โดยคณะกรรมการ FOMC ปัดตกความจำเป็นที่จะต้องลดดอกเบี้ยลงอย่างรวดเร็ว และจะยังคงตัดสินใจในการประชุมเป็นรายครั้ง (meeting by meeting) ถ้อยแถลงของประธานเฟดรวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯที่แข็งแกร่งเกินคาดส่งผลให้ตลาดปรับลดการคาดการณ์เกี่ยวกับขนาดที่เฟดจะลดดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปีนี้ลง ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิ 11,829 ล้านบาท และ 13,704 ล้านบาท ตามลำดับ

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี ให้ความเห็นถึงสถานการณ์ตลาดในสัปดาห์นี้ว่านักลงทุนจะติดตามตัวเลขเงินเฟ้อเดือนก.ย.ของสหรัฐฯและรายงานการประชุมเฟดรอบล่าสุด โดยตลาดคาดการณ์ในตอนนี้ว่ามีโอกาสราว 95% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพียง 25bp สู่ 4.50-4.75% ในการประชุมวันที่ 6-7 พ.ย. ผู้ร่วมตลาดจะจับตาความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้นในตะวันออกกลางและเฝ้าดูอย่างใกล้ชิดว่าอิสราเอลเลือกที่จะตอบโต้อิหร่านอย่างไร ขณะที่ความเสี่ยงด้านขาขึ้นของราคาน้ำมันดิบเพิ่มความเปราะบางให้กับแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ ตลาดได้ปรับความคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ยของเฟดตามตัวเลขการจ้างงานเดือนก.ย.ของสหรัฐฯที่ออกมาสดใสเกินคาด ในทางกลับกัน ธนาคารกลางหลักแห่งอื่นๆ นำโดยธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) อังกฤษ(บีโออี)และญี่ปุ่น(บีโอเจ)ต่างแสดงท่าทีที่ผ่อนคลายมากขึ้น ในภาวะเช่นนี้ เราคาดว่าแรงขายเงินดอลลาร์จะเป็นไปอย่างจำกัดโดยเฉพาะในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

สำหรับประเด็นในประเทศ คาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานของไทยจะเร่งตัวในเดือนก.ย. ทางด้านรมว.คลังให้ความเห็นว่าได้หารือกับผู้ว่าการธปท.เรื่องปัญหาหนี้ครัวเรือนและการเข้าถึงสินเชื่อ โดยมองว่าการลดดอกเบี้ยของสหรัฐฯและยุโรป รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนจะดึงเม็ดเงินไหลเข้าไทย ส่วนเรื่องกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อจะมีการหารือในรายละเอียดอีกครั้งภายในเดือนนี้

Visitors: 8,202,494