แนวโน้มธุรกิจบริการกับผู้บริโภคยุคใหม่
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์มุ่งเน้นการทำงานเชิงรุก
เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า ผ่านการลดภาระและลดต้นทุน อำนวยความสะดวก และสร้างโอกาส
เพื่อสร้างพลังของผู้ประกอบการรายย่อยให้แข็งแรง สนค.
จึงเสนอแนะแนวทางการส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจบริการให้สามารถปรับตัวให้เท่าทันแนวโน้มของผู้บริโภคยุคใหม่ เนื่องจากปัจจุบันภาคบริการมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก
โดยมีสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของโลกมากกว่าภาคเกษตรและอุตสาหกรรมรวมกัน โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ
53 ในปี 2513 เป็นร้อยละ 67 ในปี 2564 และสร้างการจ้างงานร้อยละ 50 ของการจ้างงานทั่วโลก
ตลอดจนมีบทบาทสำคัญในการอำนวยความสะดวกทางการค้าในห่วงโซ่อุปทานของโลกให้เป็นไปอย่างราบรื่น
โดยเป็นตัวกลางในการผลิตสินค้าและบริการต่าง ๆ และสร้างมูลค่าประมาณ 3.95
ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าสองเท่าของการส่งออกบริการในฐานะสินค้าขั้นสุดท้าย[1] ภาคบริการจึงเป็นภาคส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญต่อทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการยุคใหม่
หนึ่งในปัจจัยที่มีผลต่อแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจบริการ คือ ความสนใจของผู้บริโภคยุคใหม่ เช่น การใช้เทคโนโลยี AI ในการจัดการกับปัญหาในชีวิตประจำวัน ทำให้ภาคบริการคอมพิวเตอร์
สารสนเทศและการสื่อสาร เติบโตเฉลี่ยต่อปีตั้งแต่ปี 2548-2565 ร้อยละ 10 การหลีกหนีจากความเคร่งเครียดเพื่อสัมผัสกับประสบการณ์ใหม่ ๆ
ทำให้มีการใช้บริการด้านความบันเทิงมากขึ้น โดยบริการด้านวัฒนธรรม และนันทนาการของโลกเติบโตเฉลี่ยต่อปีตั้งแต่ปี
2548-2565 เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 เป็นต้น ซึ่งพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ที่มีความสำคัญต่อแนวโน้มของธุรกิจบริการในปัจจุบัน อาจแบ่งได้ตามช่วงวัย[2] ดังนี้
ผู้บริโภคเด็ก Gen
ใหม่ ประกอบด้วย Gen Z (ผู้ที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539-2554) และ Gen Alpha (ผู้ที่เกิดตั้งแต่ปี
พ.ศ. 2555-2567) คือ
Gen ของเด็กที่เริ่มเข้าสู่วัยทำงานไปจนถึงเด็กที่เกิดใหม่
เป็นกลุ่มช่วงอายุที่มีสัดส่วนร้อยละ 33.8 ของจำนวนประชากรทั้งหมดในไทย
เป็นผู้บริโภคที่มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีสูง
ทำให้มีช่องทางในการใช้บริการในด้านต่าง ๆ ได้มาก
พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จึงเป็นช่องทางสำคัญสำหรับการค้าสินค้าและบริการกับผู้บริโภคในช่วงวัยนี้
โดยผู้บริโภคในวัยข้างต้นมีความเปิดกว้างทางความคิดและให้คุณค่ากับแนวคิดที่สอดคล้องกันระหว่างผู้บริโภคและผู้ประกอบการ เช่น มีความสนใจในสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ไม่เน้นการใช้สินค้ายี่ห้อที่มีชื่อเสียงแต่เน้นที่คุณค่าและความเป็นตัวตนที่หาไม่ได้ที่อื่น
ธุรกิจบริการที่มีแนวโน้มเติบโตและสอดคล้องกับผู้บริโภค Gen นี้ คือ ธุรกิจบริการที่มีการส่งผ่านทางดิจิทัล (Digitally delivered services) ที่นับรวมธุรกิจบริการทั้งหมดที่ให้บริการผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตตั้งแต่การสตรีมเกมไปจนถึงการให้คำปรึกษาผ่านระบบทางไกล โดยในปี 2565 มีมูลค่า
3.82 ล้านล้าน ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 54 ของการส่งออกบริการทั้งหมดของโลก อีกทั้งมีการขยายตัวร้อยละ
16 ในปี 2564[3]
จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากความจำเป็นต้องมีการทำงาน การเรียน และการรับความบันเทิงผ่านระบบทางไกลทำให้มีการส่งออกบริการผ่านทางดิจิทัลมากขึ้น แม้ว่าในปี
2565 มีการชะลอตัวแต่ก็ยังขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3
ประกอบกับวิถีชีวิตและความสนใจของผู้บริโภคยุคใหม่ ทำให้ธุรกิจบริการดังกล่าวยังได้รับความนิยม
ผู้บริโภค Gen ผู้ใหญ่ทันสมัย ประกอบด้วย Baby Boomer (ผู้ที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2489-2507) และ Gen X
(ผู้ที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508-2523) คือ Gen ของวัยกลางคนไปจนถึงผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มช่วงอายุที่มีสัดส่วนร้อยละ 41.3 ของจำนวนประชากรทั้งหมดในไทย[4]
โดย Baby Boomer เป็นกลุ่มผู้ใช้บริการที่มีเวลาว่างมากขึ้น
ชอบทำกิจกรรม และมีกำลังในการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ โดยใช้บริการ
Facebookเป็นโซเชียลมีเดียหลักในการรับรู้ข่าวสารใหม่ ๆ
จึงสามารถใช้ช่องทางดังกล่าวในการทำการตลาดได้ ในขณะที่ Gen X
เป็นช่วงวัยกลางคนที่ต้องมีการวางแผนเกษียณหลังการทำงาน
วางแผนเรื่องสุขภาพและประกันชีวิตธุรกิจบริการที่เหมาะกับผู้บริโภคในสองช่วงวัยนี้อาจเน้นที่ธุรกิจบริการสุขภาพ
โดยนอกจากจะเป็นการให้บริการรักษาแล้ว
อาจมีการให้บริการบำรุงร่างกายและจิตใจผ่านกิจกรรมเพื่อสุขภาพต่าง ๆ
ธุรกิจบริการที่มีแนวโน้มเติบโตและสอดคล้องกับผู้บริโภค Gen นี้ คือ ธุรกิจบริการที่เกี่ยวกับสุขภาพ โดยธุรกิจบริการสุขภาพที่น่าสนใจ
อาทิ โทรเวช หรือ การแพทย์ทางไกล (telemedicine)
เป็นหนึ่งในการให้บริการทางการแพทย์ยุคใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารประกอบกับการให้บริการทางการแพทย์
รวมทั้งธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจบริการที่น่าสนใจ
โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ร่วมกับประเทศอื่นๆ เช่น บราซิล คิวบา อินเดีย จอร์แดน มาเลเซีย
เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และ UAE จึงเป็นโอกาสของธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ นอกจากนี้
ธุรกิจประกันภัยและบำเหน็จบำนาญก็เป็นธุรกิจ ที่อยู่ในความสนใจของ Gen ผู้ใหญ่ทันสมัย
ซึ่งมีการเติบโตเฉลี่ยต่อปีตั้งแต่ปี 2548-2565 เพิ่มขึ้นร้อยละ 6
ผอ. สนค. ให้ข้อเสนอแนะว่า แนวโน้มของธุรกิจบริการในปัจจุบัน ประกอบกับพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจบริการต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับทิศทางการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนี้
(1) ติดตามแนวโน้มและความเปลี่ยนแปลงของโลก และแสวงหาความรู้อยู่อย่างสม่ำเสมอ
(2) สร้างความร่วมมือกับคู่ค้าที่หลากหลาย เพื่อให้สามารถร่วมพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจซึ่งกันและกันได้
(3) ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจบริการและสร้างนวัตกรรมที่หลากหลาย ตอบสนองแนวโน้มใหม่ ๆ พัฒนารูปแบบหรือช่องทางการให้บริการผ่านทางดิจิทัล และปรับตัวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และ
(4) ให้ความสำคัญกับคุณค่าและการพัฒนาที่ยั่งยืน
โดยการทำธุรกิจบริการตอบสนองต่อแนวโน้มใหม่ของโลกที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
อาทิ ธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม สังคมผู้สูงอายุ สุขภาพ
และเป็นประโยชน์ต่อสังคม เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาตามแนวทางให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลก
ผอ.สนค. กล่าวทิ้งท้ายว่า กระทรวงพาณิชย์มีแนวทางส่งเสริมผู้ประกอบการเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาตามแนวโน้มธุรกิจบริการให้สามารถรองรับกับผู้บริโภคยุคใหม่
ทั้งเด็ก Gen ใหม่ และ Gen ผู้ใหญ่ทันสมัย โดยมีสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) ที่ช่วยพัฒนาผู้ประกอบการให้ทันต่อแนวโน้มและความเปลี่ยนแปลงในการทำธุรกิจ
รวมทั้งมีการอบรมออนไลน์ทางเว็บไซต์ DBD Academy เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ในการทำธุรกิจ
ผู้ประกอบการจึงสามารถใช้ช่องทางเหล่านี้ในการแสวงหาข้อมูล ความรู้
และนำไปปรับใช้ในการพัฒนาตนเองและใช้ประโยชน์จากโอกาสทางธุรกิจต่อไปได้
[1] องค์การการค้าโลก
(World Trade Organization) และธนาคารโลก (World
Bank)
[2] ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ
(Thailand Creative & Design Center: TCDC) หน่วยงานภายใต้
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี
[3] การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา
(United Nations Conference on Trade and Development: UNCTAD)
[4] ข้อมูลจำนวนประชากรรายอายุ
เดือนพฤศจิกายน 2566 ของสำนักงานบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง