Dow จุดกระแสพัฒนาบรรจุภัณฑ์ไทยผ่านการประกวดระดับนานาชาติ ดึงผู้เชี่ยวชาญแนะแนวทางสู้คู่แข่งในเวทีโลก

12 กรกฏาคม 2567 – กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) สนับสนุนการจัดประกวดรางวัลนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ระดับโลก (Packaging Innovation Award: PIA) ซึ่งจัดขึ้นในเอเชียเป็นครั้งแรกในรอบ 35 ปี โดยใช้ประเทศไทยเป็นเวทีในการตัดสินรอบสุดท้าย ซึ่งสร้างประวัติการณ์ด้วยจำนวนบรรจุภัณฑ์ที่ส่งเข้าประกวดกว่า 300 ผลงานจากทั่วโลก โดยเฉพาะบริษัทไทยส่งประกวดมากถึงกว่า 30 ผลงานเป็นครั้งแรก พร้อมจัดเสวนาโดยผู้เชี่ยวชาญระดับโลกซึ่งเปิดเผยปัจจัยสำคัญที่ต้องมีในการพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ หวังจุดประกายการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ไทยสู่ระดับสากล

Dow ในฐานะบริษัทชั้นนำด้านวัสดุศาสตร์ (Materials Science) ได้สนับสนุนการประกวดรางวัลนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ระดับโลก (Packaging Innovation Award: PIA) มาอย่างยาวนานเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ นักออกแบบ และผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ทั่วโลกร่วมส่งผลงานที่มีการใช้งานจริงเข้าร่วมประกวด โดยผู้เชี่ยวชาญเผยเกณฑ์การตัดสินนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่โดดเด่นมี 3 ปัจจัยสำคัญ ประกอบด้วย 1. มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี 2. แสดงออกถึงความรับผิดชอบและส่งเสริมความยั่งยืน และ 3. สร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้บริโภค โดยผลงานที่ส่งเข้าประกวดจะต้องมีวางจำหน่ายในตลาดแล้วอย่างน้อย 6 เดือนก่อนวันปิดรับสมัคร ซึ่งคณะกรรมการได้พิจารณามอบรางวัลระดับเงินให้กับผลงานที่มีความโดดเด่นอย่างน้อย 1 ด้าน ระดับทองมีความโดดเด่น 2 ด้าน และระดับแพลตตินัมต้องมีความโดดเด่นครบทั้ง 3 ด้าน ยิ่งไปกว่านั้นยังมีระดับไดมอนด์ซึ่งคัดเลือกจากผู้ชนะในระดับแพลตตินัมที่มีความโดดเด่นที่สุด

นอกจากการตัดสินผลงานในรอบสุดท้ายซึ่งในปีนี้ได้รับเกียรติให้จัดขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรกในเอเชียในเดือนมิถุนายน 2567 เมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ยังได้ร่วมกับคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้งยุโรป อเมริกาและเอเชีย จัดงานเสวนาพิเศษเพื่อแบ่งปันความรู้และประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญด้านบรรจุภัณฑ์ระดับโลกให้กับผู้ประกอบการชาวไทยและสื่อมวลชน ณ สำนักงานใหญ่ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย อาคารทรูดิจิตอล พาร์ค เวสต์ กรุงเทพฯ โดยได้บรรยายถึงเทรนด์สำคัญในวงการบรรจุภัณฑ์และแนวทางการพัฒนาซึ่งสะท้อนในผลงานจากทั่วโลกที่ส่งเข้าประกวดในแต่ละปี รวมทั้งตัวอย่างกรณีศึกษาจากผู้ชนะรางวัลในระดับแพลตตินัมและไดมอนด์ในปีก่อนๆ เพื่อจุดประกายการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สัญชาติไทยให้แข่งขันได้ในเวทีโลก

 “รางวัลนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ หรือ PIA ในครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 35 โดยเป็นรางวัลที่ตัดสินอย่างเป็นอิสระซึ่งดำเนินงานมายาวนานที่สุดในอุตสาหกรรม รางวัลนี้เป็นข้อพิสูจน์ถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งสอดคล้องกับความมุ่งมั่นของ Dow ในด้านนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน โดยในปีนี้เรามีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการประกวดที่จัดขึ้นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นครั้งแรก และหวังว่าจะเป็นการจุดกระแสให้เกิดความตื่นตัวในการพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ในประเทศไทย” นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหารกลุ่ม  Dow กล่าว

ด้านนางดาเนียลล่า ซูซา มิรันดา ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดระดับโลก บริษัท Dow ในฐานะผู้สนับสนุนการประกวด กล่าวว่า “Dow ให้การสนับสนุนการประกวดนี้ ด้วยความเชื่อมั่นว่า นวัตกรรมคือหนทางเดียวที่จะสร้างความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ จึงต้องมีการพัฒนาการออกแบบโดยใช้องค์ประกอบ 3 ด้าน เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ให้เข้าสู่เส้นทางของการพัฒนาอย่างยั่งยืนในขณะที่มอบคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้บริโภค การประกวดนี้ยังเป็นการยกระดับซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ให้มีความก้าวหน้ามากขึ้น และครอบคลุมวัสดุทุกประเภท โดยส่งเสริมการนำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ซ้ำ หรือ
รีไซเคิลตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (
Circular Economy)

นายเดวิด ลุทเทนเบอร์เกอร์ ผู้อำนวยการด้านบรรจุภัณฑ์ระดับโลก บริษัท มินเทล จำกัด กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่อยู่ในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์มากว่า 30 ปี เห็นถึงพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง 4 ปีหลังนี้ ผู้ผลิตได้หันมาให้ความสำคัญกับพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น  โดยผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความสำคัญกับการใช้งานที่สะดวกและความสามารถในการเก็บรักษาความสดใหม่ของสินค้าในราคาที่เหมาะสม เทรนด์ของบรรจุภัณฑ์ในปีนี้เน้นการออกแบบที่สร้างความเชื่อมโยงทางอารมณ์กับผู้ใช้ปลายทางและผู้บริโภค เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจซื้อ บรรจุภัณฑ์ที่ดีต้องใช้งานได้จริง ราคาเหมาะสม รูปทรงเป็นมิตรกับผู้ใช้ เชื่อมต่อกับผู้บริโภคได้ มีความดึงดูดใจ และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ รวมถึงสอดคล้องกับปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ดังนั้นจำเป็นต้องนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาวัสดุร่วมกับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย ซึ่งต้องใช้ความร่วมมือของหลายฝ่ายตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นซัพพลายเออร์วัตถุดิบ เจ้าของแบรนด์ ผู้ค้าปลีก และผู้ออกแบบ เพื่อพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนและกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคให้มากยิ่งขึ้น  และในอนาคต AI จะมีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานบรรจุภัณฑ์ ตั้งแต่การออกแบบไปจนถึงการหาแหล่งผลิต โดยผสานเทคโนโลยีและความยั่งยืนเข้าด้วยกัน เพื่อพัฒนาเป็นบรรจุภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆ

นายกูทัม บูททาชาจี ผู้อำนวยการอาวุโสด้านการวิจัยและพัฒนาบรจุภัณฑ์ บริษัท พีแอนด์จี แนะนำว่า การเปลี่ยนแปลงของบรรจุภัณฑ์เป็นนวัตกรรมและส่งเสริมความยั่งยืน ต้องเกิดขึ้นจากความร่วมมือในระบบห่วงโซ่ซัพพลายเชน หน้าที่ของบรรจุภัณฑ์ที่ดีไม่เพียงแค่โน้มน้าวใจผู้บริโภคให้ตัดสินใจซื้อเท่านั้น
แบรนด์ยังควรที่จะออกแบบผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมที่มีส่วนรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความยั่งยืนในทุกขั้นตอนของการพัฒนา โดยการเติบโตของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์หลายประเภทในปัจจุบันได้มีการพัฒนาให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น การใช้บรรจุภัณฑ์แบบรีฟีลเพื่อลดการใช้วัตถุดิบ และเน้นการใช้ซ้ำและนำกลับมาใช้ใหม่

การเก็บบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วกลับคืนมา สามารถทำได้โดยความร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ ในเอเชีย ในการสร้างจุดพักหรือจุดรวบรวมบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว (Drop Point) ตามสถานที่ต่างๆ ให้สะดวกในการคัดแยกและเก็บรวบรวมก่อนเข้าสู่กระบวนรีไซเคิล ความร่วมมือเหล่านี้จะช่วยสร้างห่วงโซ่คุณค่าที่ยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

นางลอว์รา บูเอน อบัด รองประธานฝ่ายเทคโนโลยีและการตลาดกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อนและพลาสติกขึ้นรูปด้วยความร้อน บริษัท โซโนโก กล่าวว่า ความยั่งยืนเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ส่งเสริมนวัตกรรมในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ และไม่ว่าจะเป็นการใช้โลหะ กระดาษ หรือพลาสติก ผู้ผลิตควรจะมุ่งเน้นการผลิตบรรจุภัณฑ์จากวัสดุชนิดเดียว (Mono-material) ซึ่งจะทำให้รีไซเคิลได้ง่าย

สำหรับแนวโน้มในปี 2024 เชื่อว่าปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI จะช่วยให้นักออกแบบสร้างสรรค์แนวคิดได้มากขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการสร้างเนื้อหาและการสื่อสารกับผู้บริโภคได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย นอกจากนี้ AI ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ สามารถทำงานโดยไม่ต้องเสียเวลาเขียนรายงาน เพราะ AI สามารถทำสิ่งนั้นแทนได้ พร้อมวิเคราะห์และสรุปเป็นข้อมูลได้รวดเร็ว ซึ่ง AI จะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ด้านบรรจุภัณฑ์

นายทอม สไกคส์ ผู้อำนวยการแบรนด์ สำนักข่าวแพคเกจจิ้ง ยุโรป กล่าวว่า “ขณะที่ประเทศยุโรปเป็นผู้นำในการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่มีการนำพลาสติกมาใช้อย่างยั่งยืนและส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดภูมิภาคเอเชียก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วโดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งระบบ จากการสังเกตเชื่อว่าเอเชียจะก้าวสู่การผลิตด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียนได้อย่างรวดเร็ว”

            จากการตัดสินรอบสุดท้ายในประเทศไทย คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านบรรจุภัณฑ์จากทั่วโลก 18 คนได้ร่วมพิจารณาตัดสินนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ครบ 3 ปัจจัย เรียบร้อยแล้ว โดยจะมีการประกาศผลและมอบรางวัลผู้ชนะในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นในเดือนตุลาคมนี้

Visitors: 8,107,247