ส่งออกไทยฟอร์มยังดี มีแรงหนุนสำคัญจากวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขาขึ้น

มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยเดือน ส.ค. 2024 ขยายตัวดีต่อเนื่องที่ 7%YOY

มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยเดือน ส.ค. 2024 อยู่ที่ 26,182.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวดีที่ 7%YOY(เทียบกับช่วงเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้า) และยังสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ (SCB EIC ประเมินไว้ 5.9% ขณะที่ Reuter Poll มีค่ากลางของการคาดการณ์อยู่ที่ 5.8%) โดยขยายตัวต่อเนื่องจาก 15.2%YOY ในเดือน ก.ค. ทำให้ภาพรวมมูลค่าการส่งออกไทย 8 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 197,192.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 4.2% (ตัวเลขระบบศุลกากร) (รูป 1)

ปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวการส่งออกในเดือนนี้เป็นผลจาก (1) มูลค่าการส่งออกคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบขยายตัวมากถึง 74.7% ต่อเนื่องจาก 82.6% ในเดือนก่อนหน้าจากความต้องการในตลาดโลกที่กลับมาฟื้นตัวตามวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขาขึ้น ปัจจัยนี้คิดเป็นสัดส่วน (Contribution to growth) ช่วยให้มูลค่าการส่งออกในเดือน ส.ค. ขยายตัวสูงได้ถึง 3.4% จากอัตราการเติบโตของการส่งออกเดือนนี้ที่ 7% (รูป 3) (2) มูลค่าการส่งออกยางพาราและข้าวที่ยังขยายตัวได้ดีที่ 64.6% และ 46.7% ตามลำดับ โดยมูลค่าการส่งออกข้าวปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการที่อินเดียมีนโยบายควบคุมการส่งออกข้าว ประกอบกับผู้นำเข้าข้าวมีความต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปริมาณและราคาส่งออกข้าวปรับตัวเพิ่มขึ้น ทางด้านมูลค่าการส่งออกยางพาราขยายตัวจากราคาที่สูงขึ้นตามความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันผลผลิตยางพาราในไทยและอินโดนีเซียก็ลดลง ซึ่งทั้งสองประเทศเป็นผู้ส่งออกยางพาราหลักของโลก มีส่วนช่วยให้มูลค่าการส่งออกในเดือน ส.ค. ขยายตัวได้ถึง 1.5% และ (3) การส่งออกทองคำที่ขยายตัวมากถึง 99% มีส่วนช่วยให้มูลค่าการส่งออกในเดือน ส.ค. ขยายตัวได้ถึง 1.3% (รูป 3)

ในการวิเคราะห์เบื้องต้นพบว่า หากพิจารณาสินค้าส่งออกรายหมวด การส่งออกสินค้าเกษตรขยายตัวได้ดีที่ 17.5% โดยเฉพาะข้าวและยางพารา การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว 17.1% โดยเฉพาะไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (รวมสินค้าแร่และเชื้อเพลิง) ขยายตัว 5.2% โดยเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ทองคำ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์ยาง และอัญมณีและเครื่องประดับหักทองขยายตัวได้ดี[1]

สำหรับการส่งออกรายตลาดสำคัญพบว่าตลาดสวิตเซอร์แลนด์สามารถขยายตัวได้ 175.1% (SCB EIC ประเมินเบื้องต้นว่าขยายตัวได้ดีจากการส่งออกทองคำ ซึ่งราคาทองคำเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา) ตลาดตะวันออกกลาง 34.6% และสหภาพยุโรป 26.4% ตามด้วยเอเชียใต้ แอฟริกา ลาตินอเมริกา CLMV รัสเซียและกลุ่ม CIS จีน และอาเซียน 5 ตามลำดับ

ดุลการค้าไทยพลิกกลับมาขยายตัวเหนือความคาดหมายของนักวิเคราะห์จากการส่งออกที่ขยายตัวดีกว่าคาด ขณะที่การนำเข้าขยายตัวน้อยกว่าคาด

มูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือน ส.ค. อยู่ที่ 25,917.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 8.9% (SCB EIC ประเมินไว้ 10.5% ขณะที่ Reuter Poll มีค่ากลางของการคาดการณ์อยู่ที่ 7.3%) โดยการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สินค้าเชื้อเพลิง และสินค้าทุนขยายตัวได้ดีที่ 16.2%13.4% และ 7.2% ตามลำดับ การนำเข้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งหดตัวรุนแรงน้อยลงอยู่ที่ -23.8% จาก -45.1% ในเดือนก่อน อย่างไรก็ดี การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคพลิกกลับมาหดตัวที่ -0.8% (รูปที่ 2) ทำให้ดุลการค้าระบบศุลกากรในเดือนนี้เกินดุล 264.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สวนทางที่นักวิเคราะห์ประเมินไว้ว่าจะขาดดุล (SCB EIC ประเมินไว้ -380 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ Reuter Poll มีค่ากลางของการคาดการณ์อยู่ที่ -70 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) จากมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวมากกว่าคาด ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวน้อยกว่าคาด สำหรับภาพรวม 8 เดือนแรกของปี 2024 ดุลการค้าไทยยังคงขาดดุล -6,351 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

SCB EIC ประเมินแนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือของปียังขยายตัวได้

SCB EIC ประเมินมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยจะสามารถขยายตัวได้ที่ 2.6% ในปี 2024 (ณ เดือน ก.ย. ตัวเลขระบบดุลการชำระเงิน) อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกที่ผ่านมาในเดือน ก.ค. และ ส.ค. ขยายตัวดีต่อเนื่องและสูงกว่าที่ SCB EIC คาดการณ์ไว้และสูงกว่ามุมมองตลาดมาก[2]  นอกจากนี้ การส่งออกของไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ในระยะถัดไปจากเศรษฐกิจโลกที่ยังขยายตัวได้ในภาพรวม แม้จะชะลอตัวลงบ้างในหลายประเทศ รวมถึงวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขาขึ้น และแรงกดดันด้านค่าระวางเรือที่เริ่มลดลง  ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกในปี 2024 อาจขยายตัวได้มากกว่าประมาณการเดิมที่ 2.6% แต่ต้องจับตาผลกระทบเพิ่มเติมจากปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของไทย การแข็งค่าของเงินบาท และการยกเลิกมาตรการควบคุมการส่งออกข้าวของอินเดีย

ในระยะสั้นมูลค่าส่งออกอาจขยายตัวดีกว่าคาด แต่ปีหน้าจะขยายได้ไม่สูงนัก

อัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกไทยที่ 2.6% และ 2.8% ในปี 2024 และ 2025 ยังถือว่าไม่สูงนักเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2010-2019 ที่ 5.3% (รูปที่ 4 ซ้าย) สะท้อนถึงความท้าทายอย่างต่อเนื่องในการฟื้นฟูแรงขับเคลื่อนของการส่งออกของไทยจากความสามารถในการแข่งขันของไทยที่น้อยลง และปัญหาเชิงโครงสร้างที่ค่อนข้างล้าหลัง โดยเมื่อพิจารณารายละเอียดในรายผลิตภัณฑ์ส่งออกหลักของไทย 13 รายการ ซึ่งคิดเป็น 76% ของการส่งออกรวม พบว่ามีเพียง 2 รายการเท่านั้น (อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักรกล และผลไม้) ที่เติบโตได้สูงกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยของโลกในช่วงปี 2019-2023 ขณะที่อีก 11 รายการที่เหลือโตช้ากว่าค่าเฉลี่ยของโลก (รูปที่ 4 ขวา) รวมถึงปัญหาภายนอกประเทศที่จะกดดันการส่งออกไทยทั้งจาก (1) ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ จากสงครามที่ยังคงยืดเยื้อ การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้น หรือมาตรการกีดกันการค้าที่เพิ่มสูงขึ้น (2) ปัญหา China overcapacity ที่อาจซ้ำเติมปัญหาด้านความสามารถในการแข่งขันของไทย ทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคากับสินค้าจีนลดลง (3) ค่าระวางเรือ (ค่าขนส่ง) ที่อาจจะกลับมาสูงขึ้นได้ จากสงครามที่เกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงขึ้น รวมถึงปัญหาการขาดแคลนเรือขนส่ง

Visitors: 8,041,915