GISTDA - กฟผ. ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ มุ่งสร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้าและพลังงานของประเทศ
GISTDA ผนึกกำลัง กฟผ. ลงนามความร่วมมือทางวิชาการด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ นำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านวิชาการ การใช้นวัตกรรม และปัญญาประดิษฐ์
วันนี้ (11 ตุลาคม 2567) ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ โดยมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศมาสร้างนวัตกรรมเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในภารกิจของ กฟผ. รวมถึงความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านวิชาการ การใช้นวัตกรรม และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ระหว่างสองหน่วยงาน ณ กฟผ. สำนักงานใหญ่ จ.นนทบุรี
ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า GISTDA เป็นหน่วยงานที่พัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ โดยหนึ่งในภารกิจเป็นการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม Thailand Earth Observation Satellite 2 หรือ THEOS-2 และข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมอื่น ๆ ทั้งทางด้านการเกษตร ภัยพิบัติ จุดความร้อน (Hot Spot) ข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยา และอุทกศาสตร์จากสถานีเรดาร์ชายฝั่งและดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา สำหรับจัดทำฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสามารถนำมาประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ รวมถึงการส่งเสริมนวัตกรรมที่จะช่วยสนับสนุนภารกิจของ กฟผ. ในทุกด้าน เพื่อให้ กฟผ. มีข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ พร้อมสนับสนุนการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับงานด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศอีกด้วย
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวเพิ่มเติมว่า GISTDA เป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญและมีศักยภาพในด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ โดยข้อมูลจากดาวเทียม และข้อมูลภูมิสารสนเทศ ประกอบกับความร่วมมือในการสร้างนวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) สามารถช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของ กฟผ. ได้เป็นอย่างดี เช่น การประเมินการประมาณการผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ทั้งประเทศได้ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น นอกจากนี้ ยังใช้ในการติดตามการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ เพื่อตรวจสอบการบุกรุกในเขตแนวสายส่งไฟฟ้า และพื้นที่ของ กฟผ. รวมถึงการประเมินศักยภาพพลังงานประเภทต่าง ๆ และการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยพัฒนาประสิทธิภาพและคุณภาพผลงาน รวมถึงเปิดโอกาสให้เกิดการพัฒนาศักยภาพบุคลากร กฟผ. อีกด้วย