เร่งเครื่องธุรกิจไทย ด้วยกลไกราคาคาร์บอน สู่การปรับตัวรับเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
Key Highlights
=กลไกราคาคาร์บอนภาคบังคับเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่จะสนับสนุนเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ช่วยบรรเทาผลกระทบจากมาตรการราคาคาร์บอนของประเทศคู่ค้า และเป็นการกระตุ้นการปรับตัวของภาคส่วนต่างๆ เพื่อรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
=ภายในปีงบฯ 68 ไทยจะเริ่มเก็บภาษีคาร์บอนจากน้ำมัน ซึ่งเมื่อประเมินเบื้องต้นในกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการเหล็ก พบว่าภาษีคาร์บอนของไทยมีสัดส่วนเพียง 0.5-0.8% เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายCBAM Certification และยังคงต้องรอความชัดเจนว่าจะสามารถนำไปหักออกจากค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้หรือไม่ อย่างไรก็ดี นับเป็นจุดเริ่มต้นให้ภาคธุรกิจเร่งปรับตัวให้พร้อมรับกับมาตรการราคาคาร์บอนที่จะทวีความเข้มข้นขึ้นในอนาคต
=Krungthai COMPASS แนะนำผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน ขนส่ง การผลิตและการก่อสร้าง ซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ควรเร่งจัดทำข้อมูลและติดตามการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเอง ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ
ต้องติดตามมาตรการสิ่งแวดล้อมทั้งในและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด ด้านภาครัฐควรมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจ ขณะเดียวกัน ควรกำหนดนโยบายราคาคาร์บอนให้สอดคล้องกับต่างประเทศ ทั้งในแง่ของมาตรฐานและกรอบเวลา พร้อมกับพัฒนาระบบติดตามข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ
ปัจจุบันหลายภาคส่วนทั่วโลกได้ให้ความสำคัญกับการตั้งเป้าหมายลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกและการดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งกลไกราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) ที่ทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีต้นทุนหรือราคาที่ต้องจ่าย เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่จะช่วยกระตุ้นให้ภาคธุรกิจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการหันมาใช้พลังงานสะอาดและลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ดี กลไกราคาคาร์บอนมีทั้งรูปแบบภาคบังคับที่ภาครัฐมีการออกกฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดราคาคาร์บอนหรือควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และภาคสมัครใจที่ไม่ได้มีกฎหมายมาบังคับ แต่เกิดจากความร่วมมือกันของภาคธุรกิจที่มีความประสงค์จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยความสมัครใจ โดยขณะนี้หลายประเทศได้เริ่มใช้หรือมีความพยายามที่จะนำกลไกราคาคาร์บอนภาคบังคับมาใช้ เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) และการจัดตั้งระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading System: ETS)
ณ ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้กลไกราคาคาร์บอนในภาคสมัครใจเท่านั้น คือการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย หรือ โครงการ T-VER ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งอาจมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอที่จะช่วยให้ไทยบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก โดยที่ผ่านมามีมูลค่าการซื้อขายคาร์บอนเครดิตสะสมเพียง 300 ล้านบาท คิดเป็นปริมาณก๊าซเรือนกระจกสะสมอยู่ที่ 3.5 MtCO2eq[1] ขณะที่ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเฉลี่ยราว 370 Mt MtCO2eq/ปี (ปี 2559-2562)
ท่ามกลางแรงกดดันจากมาตรการราคาคาร์บอนของประเทศคู่ค้าและเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การนำกลไกราคาคาร์บอนภาคบังคับมาใช้ในประเทศไทยจึงจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคต ซึ่งขณะนี้ภาครัฐก็กำลังอยู่ระหว่างการวางแนวนโยบายเพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินการ บทความฉบับนี้ KrungthaiCOMPASS จึงอยากชวนผู้อ่านไปร่วมกันหาคำตอบว่าทำไมประเทศไทยจึงต้องนำกลไกราคาคาร์บอนภาคบังคับมาใช้ แนว
นโยบายที่จะนำกลไกราคาคาร์บอนภาคบังคับของไทยเป็นอย่างไร โดยเริ่มจากการทำความรู้จักกับกลไกราคาคาร์บอนภาคบังคับที่ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายอย่างภาษีคาร์บอนและระบบ ETS
ทำความรู้จักกับภาษีคาร์บอนและระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
กลไกราคาคาร์บอนภาคบังคับที่ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายมี 2 รูปแบบ คือ
1) ภาษีคาร์บอน (CarbonTax) เป็นการกำหนดให้ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต้องจ่ายค่าปล่อยตามหลักการของผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluter PayPrincipal) โดยรัฐบาลเป็นผู้กำหนดราคาคาร์บอนต่อหน่วยของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งอาจเก็บทางตรงจากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกการจากผลิตสินค้าและบริการ หรือเก็บทางอ้อมจากการบริโภคสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เช่น เก็บจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงหรือการใช้ถ่านหิน เป็นต้น
2) 2) ระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading System: ETS) หรือระบบ Cap and Trade เป็นการกำหนดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาพรวม และกำหนดสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้กับแต่ละองค์กร โดยหากองค์กรใดปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าสิทธิที่ได้รับการจัดสรร ก็สามารถนำสิทธิที่เหลือไปขายต่อให้กับองค์กรอื่นได้ ในทางตรงข้ามหากองค์กรใดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินสิทธิที่ได้รับ ก็ต้องซื้อสิทธิจากองค์กรอื่น ซึ่งกรณีนี้ราคาคาร์บอนจะถูกกำหนดด้วยกลไกตลาด ทั้งนี้ กรณีที่องค์กรใดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินกว่าสิทธิที่ได้รับและไม่ได้ซื้อสิทธิเพิ่มเติมจากองค์กรอื่น จนเพียงพอที่จะครอบคลุมส่วนเกินนั้น ก็จะต้องเสียค่าปรับตามที่ภาครัฐกำหนด (Excess Emission Penalty) ซึ่งมักจะมีราคาสูงกว่าการซื้อขายสิทธิในตลาดคาร์บอน
ภาษีคาร์บอนและ ETS ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย จากรายงาน State and Trends Carbon Pricing 2024 ของ World Bank ระบุว่า ปัจจุบันภาษีคาร์บอนและ ETS ถูกนำมาใช้ทั้งในระดับภูมิภาค ระดับประเทศ และระดับท้องถิ่นรวม 70 แห่งทั่วโลก ซึ่งครอบคลุมปริมาณก๊าซเรือนกระจกราว 12.8 GtCO2eq คิดเป็น 24% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยทั่วโลก ทั้งนี้ บางประเทศที่มีการบังคับใช้ภาษีคาร์บอนหรือ ETS อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่แล้วก็มีแนวทางที่จะนำกลไกราคาคาร์บอนทั้ง 2 รูปแบบมาใช้พร้อมกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนั้น ยังมีรัฐบาลส่วนกลางและท้องถิ่นอีกกว่า 32 แห่งที่อยู่ระหว่างการศึกษาและพิจารณาที่จะนำภาษีคาร์บอนหรือ ETS มาใช้ ซึ่งประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในนั้น