ยูโอบี เผยผลการศึกษา ASEAN Consumer Sentiment Study 2024 ชี้ผู้บริโภคชาวไทยให้ความสำคัญกับการซื้อประสบการณ์และการลงทุนเพิ่มขึ้น

กรุงเทพฯ, 30 ตุลาคม 2567 – ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย รายงานผลการศึกษาความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอาเซียน หรือ ASEAN Consumer Sentiment Study (ACSS)[1]ประจำปี 2024 เผยว่าผู้บริโภคชาวไทยมากกว่า 2 ใน 5 (ร้อยละ 42) ใช้จ่ายกับสิ่งของจำเป็นมากขึ้น ในขณะที่คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายเพื่อประสบการณ์และสนใจลงทุนเพิ่มมากขึ้น

การศึกษาในครั้งนี้จัดทำขึ้นร่วมกับบริษัท Boston Consulting Group โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อนำเสนอข้อมูลเชิงลึก ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจในประเทศไทย รวมถึงประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม สามารถปรับตัวและรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจในปัจจุบันได้

นายยุทธชัย เตยะราชกุล กรรมการผู้จัดการ บุคคลธนกิจ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า “ผลการศึกษาในปีนี้ตอกย้ำถึงความจำเป็นในการเตรียมความพร้อมด้านการเงินของผู้บริโภคชาวไทยเพื่อให้มีสุขภาพทางการเงินที่ดี ท่ามกลางแรงกดดันทางเศรษฐกิจ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อ ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนที่สูงขึ้น และการออมที่ลดลง”

อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ผู้บริโภคระมัดระวัง

ผลการศึกษาของ ACSS ระบุว่าอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นยังคงเป็นความกังวลหลักของผู้บริโภคในประเทศไทย โดยผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 64 ถามระบุว่าสิ่งนี้เป็นข้อกังวลหลัก นอกจากนี้ร้อยละ 60 ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าค่าใช้จ่ายในครัวเรือนเพิ่มขึ้น และร้อยละ 58 ระบุว่าการออมที่ลดลงเป็นปัจจัยที่เป็นข้อกังวลรองลงมา เพื่อเป็นการตอบสนองต่อข้อกังวลเหล่านี้ ส่งผลให้ครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามลดค่าใช้จ่ายสินค้าที่ไม่จำเป็น ในขณะที่ร้อยละ 45 แสวงหาแหล่งรายได้รอง และร้อยละ 44 มองหาข้อเสนอและส่วนลดในการชอปปิง

เทรนด์การใช้จ่ายเพื่อซื้อประสบการณ์เพิ่มขึ้น

แม้ว่าสภาพเศรษฐกิจจะมีความไม่แน่นอน แต่ผู้บริโภคชาวไทยกลับให้ความสำคัญกับการจับจ่ายเพื่อซื้อประสบการณ์มากกว่าสินค้าฟุ่มเฟือย ผู้บริโภคชาวไทยมากกว่าร้อยละ 40 กล่าวว่าพวกเขาใช้จ่ายมากขึ้นกับการซื้อประสบการณ์ในปีที่ผ่านมา เช่น การเดินทาง รับประทานร้านอาหารรสเลิศ คอนเสิร์ต อีเว้นท์และงานเทศกาล การใช้จ่ายเพื่อซื้อประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้นเห็นได้ชัดเจนโดยเฉพาะในผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z (ร้อยละ 56) และ Gen Y (ร้อยละ 45) ข้อมูลจากวีซ่า ประเทศไทย สนับสนุนแนวโน้มการใช้จ่ายเพื่อซื้อประสบการณ์นี้เช่นกัน โดยระบุว่าผู้ถือบัตรเครดิตยูโอบีวีซ่ามีการใช้จ่ายในสินค้าหรูหราลดลงร้อยละ 9 แต่ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเพื่อซื้อประสบการณ์กลับเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 3 การใช้จ่ายเพื่อซื้อประสบการณ์ที่เป็นหมวดใหญ่ที่สุดคือการรับประทานอาหาร รองลงมาคือการเดินทาง และกิจกรรมความบันเทิง เช่น คอนเสิร์ตและงานเทศกาลซึ่งเป็นประเภทการใช้จ่ายที่มีอัตราการเติบโตมากที่สุดที่ร้อยละ 57[2]

กระแสการเดินทางต่างประเทศยังคงมาแรง

การเดินทางระหว่างประเทศยังคงเป็นส่วนสำคัญของการใช้จ่ายเพื่อประสบการณ์ ผู้บริโภคชาวไทยมากกว่าครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 58) ระบุว่าได้เดินทางไปยังต่างประเทศในภูมิภาคอาเซียนในปีที่ผ่านมา ผลการวิจัยของ ACSS 2024 เผยให้เห็น ผู้ตอบแบบสอบถามยังชื่นชอบจุดหมายปลายทางในอาเซียน เช่น สิงคโปร์ เวียดนาม และมาเลเซีย ข้อมูลของวีซ่า ประเทศไทย ยังยืนยันแนวโน้มการท่องเที่ยวในต่างประเทศนี้ การใช้จ่ายด้วยบัตรเครดิตในต่างประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เมื่อเปรียบเทียบการใช้จ่ายบัตรเครดิตในต่างประเทศเป็นรายปีของผู้ถือบัตรเครดิตยูโอบี วีซ่า ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 ถึง 30 มิถุนายน 2567 โดยจุดหมายปลายทางยอดนิยมอื่นๆ ทั่วโลกได้แก่ ญี่ปุ่น จีน (รวมถึงฮ่องกง) และฝรั่งเศส

คนรุ่นใหม่สร้างความสมดุลระหว่างการใช้จ่ายกับการออมและการลงทุน

แม้การใช้จ่ายเพื่อประสบการณ์จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ผู้บริโภคในประเทศไทยยังคงมุ่งมั่นออมเงินอย่างแข็งแกร่ง โดยร้อยละ 57 ของผู้บริโภคระบุว่ามีเงินสำรองฉุกเฉินที่รองรับค่าใช้จ่ายอย่างน้อยสามเดือน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในภูมิภาคอาเซียนที่ร้อยละ 54 สิ่งที่น่าสังเกตคือ คนรุ่นใหม่ (Gen Y และ Gen Z) ให้ความสำคัญกับการรักษาความมั่งคั่งผ่านการออมและการลงทุนมากกว่าคนในช่วงอายุที่มากกว่า

ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ยังเปิดเผยว่าบัญชีเงินฝากของกลุ่ม Gen Z เพิ่มขึ้นร้อยละ 52 ในขณะที่จำนวนบัญชีเงินฝากที่ถือครองโดยกลุ่ม Gen Y เพิ่มขึ้นร้อยละ 27 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้จำนวนนักลงทุน Gen Z เพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 129 ในขณะที่นักลงทุน Gen Y เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 โดยเม็ดเงินลงทุนโดยคนรุ่นใหม่ในการลงทุนตรงในต่างประเทศเติบโตขึ้นร้อยละ10 และการลงทุนในต่างประเทศผ่านกองทุนที่จดทะเบียนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 14

นายยุทธชัย กล่าวเสริมอีกว่า “เป็นเรื่องน่ายินดีที่เห็นคนรุ่นใหม่ชาวไทยจำนวนมากมุ่งมั่นสร้างความมั่นคงทางการเงินผ่านการออมและการลงทุน แต่ยังคงจำเป็นต้องให้การสนับสนุนเพิ่มเติมในด้านอื่นๆ เช่น ประกันสุขภาพ เป็นต้น เรามุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างให้คนรุ่นใหม่สามารถดำเนินชีวิตตามไลฟ์สไตล์ที่ต้องการ พร้อมทั้งสร้างความยั่งยืนทางการเงินควบคู่กัน”

ติดตามอ่านรายงาน ASEAN Consumer Sentiment Study 2024 ฉบับเต็มได้ที่ go.uob.com/acss2024-th

[1]การสำรวจแบ่งกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามออกเป็นสี่กลุ่มอายุ ได้แก่ GenZ (อายุ 18 ถึง 25 ปี), Gen Y (อายุ 26 ถึง 41 ปี), Gen X (อายุ 42 ถึง 57 ปี) และ Baby Boomers (อายุ 58 ถึง 65 ปี) โดยรวบรวมข้อมูลในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ปี 2657

[2]เปรียบเทียบช่วงเดือนกรกฎาคม2565 – 30 มิถุนายน2566 กับช่วงเดือนกรกฎาคม2566 – มิถุนายน2567

Visitors: 8,107,325