“หมูเถื่อน” บิดเบือนกลไกตลาด บั่นทอนความมั่นใจเกษตรกร
ผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศ ชี้
“หมูเถื่อน” ทำราคาหมูในประเทศอ่อนลง
ประกอบกับกำลังซื้อชะลอตัวจากผู้บริโภครอจับจ่ายช่วงปีใหม่
ขณะที่ผลผลิตในแต่ละภูมิภาคยังน้อยกว่าความต้องการ
นายนิพัฒน์
เนื้อนิ่ม อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ
และนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี กล่าวว่า
ปริมาณผลผลิตสุกรในภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก
ยังไม่เพียงพอกับการบริโภคในพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือยังต้องพึ่งพาสุกรจากพื้นที่อื่น
แต่ราคากลับลดลง
ขณะที่เกษตรกรยังทยอยนำหมูเข้าเลี้ยงต่อเนื่องเพื่อเพิ่มผลผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการ
คาดว่าในปี 2566 ผลผลิตจะดีขึ้น
“ราคาสุกรมีชีวิตช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนตัวลง
เกิดจากสังคมได้รับข้อมูลที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง มีการนำข้อมูลเก่าไปสื่อสารซ้ำ
ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าไทยมีผลผลิตส่วนเกิน
ส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมและกดดันราคารับซื้อ
ทั้งที่ในความเป็นจริงผลผลิตทั้งประเทศยังน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการ”
นายนิพัฒน์ กล่าว
นายนิพัฒน์
กล่าวต่อไปว่า ราคาสุกรที่อ่อนลงในขณะนี้ เกิดจากกำลังซื้อลดลงเนื่องจากผู้บริโภคชะลอการใช้จ่ายเพื่อรอการเฉลิมฉลองช่วงเทศกาลปีใหม่
ราคาจึงปรับลดตามกลไกตลาด ซึ่งผู้เลี้ยงสุกรประเมินว่าผลผลิตขณะนี้
ยังคงน้อยกว่าความต้องการ
แต่มั่นใจว่าปีหน้าผลผลิตจะมีเพียงพอต่อการบริโภคและอาจมีผลผลิตส่วนเกินบ้างบางช่วง
จากการส่งเสริมให้ผู้เลี้ยงกลับมาเลี้ยงใหม่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้
“หมูเถื่อน” ยังเป็นปัจจัยลบต่อปริมาณการเข้าสู่ตลาดของหมูรุ่นใหม่
จึงเรียกร้องให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้องเร่งปราบปรามอย่างจริงจัง
หยุดการลักลอบนำเข้าให้ได้
สร้างความมั่นใจของผู้เลี้ยงและเสถียรภาพราคาในประเทศให้เป็นไปตามกลไกตลาด
เพราะหมูเถื่อนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาในประเทศบิดเบือน จากต้นทุนต่ำกว่ามาก
และอาจเป็นเนื้อหมูที่เชื้อโรคปนเปื้อนเพราะไม่ผ่านการตรวจสอบตามมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์
อาจเป็นหมูติดโรค ASF ซึ่งมีโอกาสเป็นพาหะนำโรคกลับเข้ามาระบาดในประเทศซ้ำได้
นายนิพัฒน์
กล่าวว่า ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์
เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐ
ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ 12.75
บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นต้นทุนของภาคปศุสัตว์และภาคอาหารสัตว์
ซึ่งจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจและมีผลโดยตรงกับราคาเนื้อสัตว์ที่ผู้บริโภคเป็นปลายทางที่ต้องจ่าย
อย่างไรก็ตาม
สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ขอความร่วมมือสมาชิกและผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศ
ให้ความเข้มงวดกับระบบความปลอดภัยทางชีวภาพหลังมีข่าวการระบาดของโรค ASF ในสุกร ทางตอนเหนือของประเทศ โดยปัจจุบันราคาซื้อขายสุกรขุนหน้าฟาร์มเริ่มย่อตัวต่ำกว่าต้นทุนการผลิต
ที่ประเมินโดย คณะอนุกรรมการต้นทุนการผลิต อยู่ที่ 101.01 บาทต่อกิโลกรัม
ในขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์หลายตัว เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
ยังคงมีราคาสูงต่อเนื่อง โดยในส่วนของผลผลิตสุกรปีหน้า คาดว่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น
จากการเข้าเลี้ยงใหม่ของผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย ซึ่งสมาคมฯ
จะกำกับดูแลผลผลิตอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบด้านราคาในทุกระดับ./