อินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส เตือนโลกเผชิญความผันผวนในปี 2566 ชี้ความขัดแย้งระหว่างประเทศและค่าครองชีพสูงทำให้หลายองค์กรเผชิญ 'วิกฤตซ้อนวิกฤต'
8กุมภาพันธ์2566, กรุงเทพฯ – แม้ว่าผลกระทบที่รุนแรงของโรคระบาดในหลายประเทศจะบรรเทาเบาบางลง แต่องค์กรทั่วโลกยังคงเผชิญกับความเสี่ยงที่สำคัญ ๆ ในปี 2566โดยผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นทั่วโลกอาจจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง เนื่องจากปัญหาค่าครองชีพและสถานการณ์ความมั่นคงที่เป็นอุปสรรคและส่งผลกระทบต่อพนักงาน ซึ่งที่กล่าวมานี้คือข้อมูลที่ได้จากรายงานภาพรวมแนวโน้มความเสี่ยงทั่วโลกประจำปี 2566 (Risk Outlook 2023 report) และแผนที่ความเสี่ยงทั่วโลก(global risk map)ฉบับปรับปรุงใหม่ของอินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส (International SOS) ซึ่งนำข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทางการแพทย์และความมั่นคงปลอดภัยจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมาจัดอันดับความเสี่ยงตั้งแต่ระดับ "เล็กน้อย" ไปจนถึง "รุนแรง"[1]
ข้อมูลจำนวนมากในรายงานดังกล่าวได้มาจากการสำรวจความคิดเห็นเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสด้านความเสี่ยงจำนวน 1,218 คน ใน 108 ประเทศ ซึ่งให้มุมมองโดยละเอียดเกี่ยวกับความเสี่ยงที่สำคัญบางประการที่องค์กรต้องรับมือในปี 2566[2]นอกเหนือไปจากปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ เช่น ปัญหาสุขภาพจิตแล้ว อินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการใช้แหล่งข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำของผู้นำองค์กรเพื่อช่วยเหลือพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ "วิกฤตซ้อนวิกฤต" (perma-crisis) ที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
มุมมองของอินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส 5 คำทำนายสำหรับปี 2566
จากผลการสำรวจแนวโน้มความเสี่ยงประจำปี 2566, Workforce Resilience Council และข้อมูลที่เป็นกรรมสิทธิ์ขององค์กร อินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส สรุปแนวโน้ม 5 อันดับแรกที่องค์กรพึงตระหนักในปี 2566ไว้ดังนี้
1. ข้อมูลที่ทันเหตุการณ์ ถูกต้อง เชื่อถือได้และนำไปปฏิบัติได้จริง คือ พลังของข้อมูลเชิงลึกที่ช่วยสนับสนุนการตัดสินใจ
2. การปรับตัวเข้าสู่โหมด 'วิกฤตซ้อนวิกฤต'ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ ความท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคม และการแบ่งขั้วที่เพิ่มสูงขึ้น
3. วางแผนเพื่อรับมือกับสิ่งที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้: ผู้เดินทางต้องการความช่วยเหลือมากขึ้นกว่าเดิม
4. การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและปัจจัยอื่น ๆ ส่งผลให้ความเสี่ยงด้านสุขภาพเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งยังส่งผลกระทบอย่างมากมายในวงกว้าง จึงจำเป็นต้องมีวิธีการที่ครอบคลุมในการเข้าถึงประกันสุขภาพ
5. สมการความสุขในการทำงาน (A+B+C)-D: สุขภาพจิตในที่ทำงานยุคใหม่
การอธิบายถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์
ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนเป็นประเด็นที่กำหนดสถานการณ์ความมั่นคงของโลกในปี 2565ซึ่งเน้นย้ำให้เห็นว่า เพราะเหตุใดภูมิรัฐศาสตร์และภัยคุกคามจากความขัดแย้งระหว่างประเทศจึงกลับมาเป็นประเด็นความเสี่ยงที่องค์กรต้องจับตา ความขัดแย้งจะยังคงส่งผลกระทบต่อโลกอย่างแน่นอนในปี 2566 ดังนั้นองค์กรจึงควรเรียนรู้วิธีการรับมืออย่างมีประสิทธิภาพกับสภาพความเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไปทั่วโลก ยิ่งไปกว่านั้น ความผันผวนทางภูมิรัฐศาสตร์จะแผ่ขยายออกจากรัสเซีย/ยูเครนไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ในอีก 12 เดือนข้างหน้า เนื่องจากรอยร้าวที่เพิ่มขึ้นระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตกจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ความขัดแย้งอื่น ๆ และทำให้ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานทวีความรุนแรงขึ้น นอกจากการแบ่งขั้วอย่างเห็นได้ชัดระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตกแล้ว การแข่งขันระหว่างสหรัฐกับจีนจะเป็นประเด็นที่ครอบงำภูมิทัศน์ด้านภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจมากขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งวิธีการดำเนินการที่ดีที่สุดสำหรับองค์กรคือการทบทวนความเป็นไปได้และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ เพื่อทำความเข้าใจถึงสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นกับธุรกิจและพนักงานขององค์กร
ทีมบริหารจัดการวิกฤตอยู่ในระหว่างการเรียนรู้ที่จะจัดการกับภาวะ 'วิกฤตซ้อนวิกฤต'ทั้งนี้ การจัดอบรม การลงทุน และการให้การสนับสนุนในระดับที่เหมาะสมแก่ทีมบริหารจัดการวิกฤตจะเป็นประโยชน์สำหรับองค์กรในปี 2566 โดยผู้เชี่ยวชาญแนะให้องค์กรต่าง ๆ หันมาใส่ใจทีมงานเหล่านี้ซึ่งแบกรับความเหนื่อยล้ากับการจัดการภาวะวิกฤต เพราะการบรรเทาความเหนื่อยล้าในการจัดการภาวะวิกฤตเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้องค์กรสามารถถอนตัวออกจากโหมด 'วิกฤตซ้อนวิกฤต' ไปสู่การฟื้นตัวจากวิกฤตได้ และองค์กรที่สามารถเรียนรู้จากบทเรียนที่ได้รับในช่วงสองปีที่ผ่านมา จะมีขีดความสามารถที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นในการจัดการกับความท้าทายต่าง ๆ
เรื่องนี้กำลังจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ ผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมตอบแบบสำรวจหลายคนคาดการณ์ว่า แนวโน้มความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์เหล่านี้จะส่งผลกระทบด้านลบต่อระดับความสามารถในการผลิตในปีหน้า ดังนี้:
ระดับความวุ่นวายที่เพิ่มสูงขึ้นในสังคม
ผลการสำรวจที่ได้เน้นย้ำในที่นี้ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า ผู้เชี่ยวชาญหลายรายคาดการณ์ว่าความไม่สงบในสังคมจะเป็นสาเหตุหลักของการสูญเสียประสิทธิภาพการทำงานในปี 2566 ตัวอย่างเช่น ผู้เชี่ยวชาญ 48% คาดการณ์ว่า แรงกดดันด้านค่าครองชีพจะส่งผลกระทบต่อพนักงานในประเทศ และ 33% มองว่าเหตุการณ์ความไม่สงบทางสังคมจะส่งผลกระทบต่อผู้ที่เดินทางเพื่อทำธุรกิจ
นับเป็นเรื่องที่เห็นได้ชัดว่า ความไม่สงบทางสังคมกำลังจะกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้บริหารระดับสูง (C-suite) ต้องพิจารณาเพื่อหาทางรับมือในปี 2566 เนื่องจากปัญหาดังกล่าวมีหลากหลายแง่มุม ซึ่งส่งผลกระทบต่อองค์กรและพนักงานในหลาย ๆ ด้าน ทั้งนี้ หัวข้อและประเด็นสำคัญ ๆสำหรับปี 2566 ได้แก่:
· ความผันผวนในตลาดพลังงานและการเกษตรจะเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่เศรษฐกิจเปราะบาง ไม่มั่นคง ซึ่งประเทศหรือภูมิภาคที่มีความเสี่ยงสูงสุด คือ กลุ่มประเทศแอฟริกาตอนใต้ทะเลทรายซาฮารา (Sub-Saharan Africa) อียิปต์ เลบานอน
· ความล้มเหลวในการแก้ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจหรือการเมืองจะกระตุ้นให้ประชาชนไม่พอใจและความไม่พอใจนี้จะขยายวงกว้าง และมีแนวโน้มว่าสถานการณ์ความไม่สงบจะรุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งประเทศที่มีความเสี่ยงมากที่สุด ได้แก่ ปากีสถาน ศรีลังกา เอกวาดอร์ เปรูและอิรัก
· การแบ่งขั้วอำนาจในระดับโลกจะนำไปสู่การแบ่งขั้วอำนาจภายในประเทศมากยิ่งขึ้น และจะกระตุ้นให้เกิดความไม่สงบทางสังคมจนทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น และในกรณีที่เลวร้ายที่สุด จะกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงและอาชญากรรมในท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น ประเทศหรือภูมิภาคที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และยุโรปตะวันตก
แซลลี ลูเวลลิน (Sally Llewellyn)ผู้อำนวยการฝ่ายความมั่นคงปลอดภัยระดับโลก (Global Security) ของอินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส กล่าวว่า "ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในปี 2566 นั้นมีมากมายหลายปัจจัย และการอธิบายถึงผลกระทบของความไม่สงบทางสังคมจะเป็นภารกิจที่สำคัญสำหรับองค์กรธุรกิจในปี 2566 การที่จะบรรเทาผลกระทบนั้น สามารถเริ่มต้นได้ด้วยการทำความเข้าใจสภาพความเสี่ยงในการดำเนินงานขององค์กร ปัจจัยที่จะกระตุ้นความไม่สงบ และผลกระทบที่เป็นไปได้มากที่สุดที่จะเกิดขึ้นกับพนักงานและการดำเนินงาน การทำเช่นนี้ยังช่วยให้ธุรกิจต่าง ๆ มั่นใจได้ว่าองค์กรมีระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่เหมาะสม ตลอดจนทำให้เข้าใจว่าปัจจัยกระตุ้นและการตอบสนองแบบใดที่จำเป็นสำหรับองค์กรในการแก้ปัญหาด้านความมั่นคงปลอดภัย นอกจากนี้ การศึกษาหาความรู้ก็มีความสำคัญเช่นกัน พนักงานและผู้มีอำนาจตัดสินใจจำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงและมาตรการที่องค์กรของตนกำลังดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงและทำให้พนักงานปลอดภัย”
ผลกระทบที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
นอกจากผลกระทบที่เกิดขึ้นแบบฉับพลันจากสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงแล้ว ในปี 2566 องค์กรต่าง ๆ จำเป็นต้องพิจารณาถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในหลายระดับ ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงด้านสุขภาพเพิ่มสูงขึ้น โดยผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมีส่วนทำให้เกิดโรคติดเชื้อชนิดใหม่ หรือทำให้โรคติดเชื้อที่มีอยู่เดิมกลับมาเกิดซ้ำเร็วขึ้น ดังจะเห็นได้จากการระบาดที่ “ผิดปกติ” หลายครั้งในศตวรรษที่ 21 ซึ่งรวมถึงโรคซาร์ส อีโบลา โควิด-19 และฝีดาษลิง บทบรรยายสรุปที่เผยแพร่ในวารสารเนเจอร์ ไคลเมต เชนจ์ (Nature Climate Change) เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ประมาณการว่า "การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอาจเป็นสาเหตุให้โรคติดเชื้อมากกว่าครึ่งที่พบในมนุษย์มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น"[3]
การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศถูกคาดการณ์ว่า จะเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคที่มียุงเป็นพาหะเพิ่มขึ้น เนื่องจากอุณหภูมิและระดับน้ำนิ่งที่สูงขึ้น สถานการณ์เช่นนี้อาจทำให้เกิดการระบาดของโรคมาลาเรีย ไข้เลือดออก และไข้ซิกาในพื้นที่ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และเกิดการระบาดบ่อยครั้งขึ้นในพื้นที่ที่พบโรคอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์ที่น่ากังวลดังกล่าว พบว่ามีผู้ตอบแบบสำรวจเพียง 25% ที่ระบุว่า องค์กรของตนกำลังเตรียมพร้อมรับมือกับโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงโควิด-19 สายพันธุ์ต่าง ๆ สำหรับแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดของการรับมือกับเรื่องนี้ คือ การประเมินความเสี่ยงของภัยคุกคามสุขภาพในปัจจุบันและที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต และควรคำนึงถึงความเป็นไปได้ที่ภัยคุกคามสุขภาพเหล่านี้อาจขยายวงในทางภูมิศาสตร์ อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและปัจจัยอื่น ๆ
ดร.ไอรีน ไล (Dr Irene Lai) ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ของอินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส แสดงความคิดเห็นว่า “องค์กรต่าง ๆ มีประสบการณ์เป็นอย่างดีกับการตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม องค์กรเหล่านี้ควรต่อยอดความรู้และประสบการณ์ พร้อมทั้งขยายแผนรับมือวิกฤตและความต่อเนื่องทางธุรกิจให้ครอบคลุมปัจจัยความเสี่ยงด้านสุขภาพที่เป็นที่รับรู้กันดีอยู่แล้ว รวมถึงที่คาดการณ์ว่าอาจจะเกิดขึ้น ขณะเดียวกัน ควรมีการฝึกซ้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด ทั้งที่อาจจะเกิดขึ้นและไม่น่าจะเกิดขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจว่าทีมงานมีความพร้อม การวางแผนล่วงหน้าเพื่อรักษาความยืดหยุ่นขององค์กรนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศกำลังส่งผลให้เกิดวิกฤตหลายวิกฤตซ้อนกัน ขณะที่การเกิดขึ้นของโรคระบาดอื่น ๆ ก็เป็นเรื่องที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้”
นักเดินทางคาดหวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมในปี 2566
รายงานแนวโน้มความเสี่ยงยังเน้นย้ำด้วยว่า องค์กรส่วนใหญ่ (86%) คงงบประมาณการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการเดินทางไว้เท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงมีแนวโน้มว่าการเดินทางจะยังคงขยายตัวและกลับไปอยู่ที่ระดับก่อนที่จะเกิดโรคระบาด
แนวโน้มข้างต้นได้รับการสนับสนุนจากข้อมูลกรณีตัวอย่างของอินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้จากการติดตามนักเดินทาง โดยข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า แม้ว่าการเดินทางระหว่างประเทศในขณะนี้อยู่ที่ 83%ของช่วงก่อนที่จะเกิดโควิด แต่นักเดินทางมีแนวโน้มที่จะขอคำแนะนำหรือความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า
แน่นอนว่าการเดินทางเพื่อธุรกิจในปี 2566 จะมีความยุ่งยากซับซ้อน สิ่งสำคัญคือต้องลดปัญหาต่าง ๆ ให้น้อยลง อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ว่า แม้ค่าใช้จ่ายจะสูงขึ้น แต่ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่างบประมาณการเดินทางในปี 2566 จะเพิ่มขึ้นหรือทรงตัวโดยการลงทุนลักษณะนี้จะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้นักเดินทางเพื่อธุรกิจเดินทางอย่างปลอดภัยในอนาคต
[1]https://www.internationalsos.com/risk-outlook/definitions
[2]The annual risk outlook study exposes gaps in the protection of employee health and security such as risk perception, mental health, productivity impacts and operational challenges. The survey is complemented with interpretations and predictions from the Workforce Resilience Council, as well as extensive proprietary data and analysis from International SOS. The Workforce Resilience Council is made up of representative experts from all health, security, and safety fields. The participants in this year’s Council are from a mix of think tanks, associations, advisory boards, NGOs, and IGOs, relevant to the risks of working at home or abroad.
[3] Mora, C., McKenzie, T., Gaw, I.M. et al. Over half of known human pathogenic diseases can be aggravated by climate change. Nat. Clim. Chang. 12, 869–875 (2022). https://doi.org/10.1038/s41558-022-01426-1