Checkup ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน หลังโควิดซา
Key Highlights
=Krungthai COMPASS คาดว่า ในปี 2567 รายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนจะขยายตัว 8-12%YoY และมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่อง 6-10%YoY ในปี 2568 โดยธุรกิจยังมีปัจจัยสนับสนุนที่แข็งแกร่งตามโครงสร้างพื้นฐานเดิม ขณะที่การพัฒนาด้านการแพทย์สมัยใหม่จะทำให้เกิดการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจได้ และยังมีปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากการฟื้นตัวเต็มที่ของ Medical Tourism
=กลุ่ม Medical Tourism ยังเป็นเป้าหมายสำคัญของโรงพยาบาลเอกชน โดยในระยะ 1-2 ปีนี้ รายได้จากนไข้ต่างชาติของโรงพยาบาลเอกชน โดยเฉพาะกลุ่ม MedicalTourism ยังมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่อง
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยจะมีมูลค่ากว่า 6.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท ในปี 2577 เติบโตเฉลี่ยปีละ 15.7% (CAGR ปี 2567-2577)
=3 ปัจจัยท้าทายของธุรกิจ ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า ได้แก่ 1) การแข่งขันสูง จากผู้ประกอบการในประเทศทั้งรายเดิมและรายใหม่ และการแข่งขันจากการช่วงชิงการเป็น Medical Hub ของประเทศในภูมิภาค 2) ต้นทุนที่ยังยืนสูง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า และต้นทุนทางการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับในอดีต ซึ่งอาจ
กระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ 3) เทคโนโลยีและเทรนด์การแพทย์สมัยใหม่ที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด ผู้ประกอบการต้องปรับให้ทันการเปลี่ยนแปลง เพื่อยกระดับศักยภาพการแข่งขัน
“ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน” เป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโต เพราะเกี่ยวเนื่องกับการดูแลสุขภาพ และการรักษาชีวิตผู้คน อีกทั้งยังเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าสูง ซึ่งนอกจากจะสะท้อนจากตัวเลขรายได้ของธุรกิจ[1] ที่มีมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่าสองแสนล้านบาทแล้ว ยังมีเครื่องชี้สำคัญ คือ สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพโดยภาคเอกชน (PrivateHealthExpenditure) มากกว่า 50% เกิดขึ้นในโรงพยาบาล[2] ทั้งนี้ แม้ผลบวกจากโควิดจะทยอยหมดลง แต่ค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพโดยภาคเอกชนในปี 2566 ยังมีมูลค่าสูงถึง 5.86 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.2%YoY ขณะที่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพโดยภาคเอกชนมีมูลค่ากว่า 3.05 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2%YoY และจากการแพร่ระบาดของโควิดที่ผ่านมาเป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่าธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่ฟื้นตัวได้เร็วหลังเผชิญภาวะวิกฤติที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจอย่างรุนแรง และยังมีศักยภาพที่จะเติบโตในอนาคต ทั้งในด้านมูลค่าและการลงทุน
อย่างไรก็ดี แม้ว่าธุรกิจจะมีแนวโน้มเติบโต แต่ก็ยังมีปัจจัยท้าทายอีกหลายประการ ทั้งจากปัญหาด้านกำลังซื้อในประเทศ ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงการฟื้นตัวของคนไข้ต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ที่อาจจะต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากการที่ช่วงชิงการเป็นผู้นำด้าน MedicalHub ของหลายประเทศ ขณะที่ต้นทุนการดำเนินงานที่สูง ทั้งจากอัตราดอกเบี้ย ค่าไฟฟ้า รวมไปถึงต้นทุนในการปรับปรุงทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการดำเนินงาน ให้เป็นไปตามหลัก ESG ซึ่งอาจกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ
ซึ่งในบทความนี้จะชวนทุกท่านมาดูว่า รายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนจะเป็นอย่างไร หลังผลบวกจากโควิดหมดลง และปัจจัยอะไรบ้าง? ที่ต้องจับตา และมีผลกระทบต่อธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า
ภาพรวมธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน
ในปี 2567 คาดว่า ธุรกิจจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากปี 2564-2565 ในกรอบ 8-12%YoY และมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่องในกรอบ 6-10%YoY ในปี 2568โดยธุรกิจยังมีปัจจัยสนับสนุนที่แข็งแกร่งตามโครงสร้างพื้นฐานเดิมที่ยังส่งผลอยู่ คือ ความต้องการการรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนคนไข้และอัตราการเจ็บป่วยที่สูงขึ้น ทั้งจากวิถีการดำเนินชีวิตที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค สังคมผู้สูงอายุ และความซับซ้อนของโรคที่มีมากขึ้น ขณะที่การพัฒนาด้านการแพทย์สมัยใหม่ ทำให้เกิดการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งตามมาด้วยค่ารักษาพยาบาลที่ค่อนข้างสูง หรือที่เรียกว่า “การแพทย์มูลค่าสูง” อาทิ การแพทย์แม่นยำ ซึ่งจะส่งผลดีต่อรายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากการฟื้นตัวเต็มที่ของกลุ่ม MedicalTourism
โดย Krungthai COMPASS ประเมินว่าในปี 2567-2568 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นเป็น 36.5 และ 40.0 ล้านคน ตามลำดับ โดยกลุ่มลูกค้าที่เป็นคนไข้ชาวต่างชาติ จากอาเซียน จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น และตะวันออกกลาง จะยังคงกลับมาใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนในไทย เนื่องจากเชื่อมั่นในคุณภาพการรักษา ค่ารักษาพยาบาลและค่าครองชีพไม่สูงมากเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน อีกทั้งมีมาตรฐานและบริการที่ดี และประเทศไทยมีโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน JCI มากถึง 50 แห่ง[3] ซึ่งจะส่งผลดีต่อรายได้ของกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่มีสัดส่วนคนไข้ต่างชาติสูงอย่างโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) สมิติเวช (SVH) [4]และกลุ่มกรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS)
รายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนกลับขยายตัวอีกครั้งหลังปรับฐานในปี 2566
ในช่วงครึ่งปีแรก 2567 ภาพรวมรายได้รวมของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ กลับมาขยายตัวอีกครั้ง ที่ 7.2%YoY หลังทยอยปรับฐานในปี 2566 เนื่องจากอานิสงส์จากการรับรักษาโควิดทยอยหมดลงอย่างมีนัยสำคัญ จนทำให้รายได้รวมของกลุ่มโรงพยาบาลที่เน้นรักษาคนไข้ชาวไทยหดตัวเกือบทุกแห่ง และทำให้ภาพรวมรายได้ของกลุ่มนี้หดตัวราว 14.1%YoY ขณะที่รายได้รวมของกลุ่มโรงพยาบาลที่เน้นรักษาคนไข้ต่างชาติยังเติบโตต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาพรวมรายได้รวมของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในปี 2566 หดตัวเล็กน้อยเพียง 0.6%
รายได้จากคนไข้ต่างชาติทยอยฟื้นตัว อีกแรงหนุนรายได้ของธุรกิจ
หลังสถานการณ์โควิดซาลง การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทำให้การจ้างงานฟื้นตัวต่อเนื่อง ขณะที่การเดินทางระหว่างประเทศไม่มีข้อจำกัดอีกต่อไป ส่งผลให้คนไข้ต่างชาติสามารถเดินทางเข้ามารับบริการทางการแพทย์ได้สะดวกขึ้น โดยคนไข้ต่างชาติที่เข้ามารับบริการฯ ในไทย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ คนไข้ต่างชาติที่ทำงานในไทย (EXPAT) และคนไข้ที่เดินทางจากต่างประเทศเข้ามารับการรักษา (Fly-in) หรือกลุ่ม Medical Tourism ซึ่งทั้งสองกลุ่มมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน โดยกลุ่ม MedicalTourism มีกลุ่มคนไข้หลัก คือ ชาวจีน ตะวันออกกลาง ยุโรป และอาเซียน ที่ยังคงต้องการรักษาพยาบาลในไทย ขณะที่กลุ่ม EXPAT จะเป็นชาวต่างชาติที่กลับเข้ามาทำงานในไทยหลังโควิดคลี่คลาย และกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศเข้าสู่ภาวะปกติ และมีโอกาสเติบโต โดยเฉพาะในพื้นที่เศรษฐกิจอย่างสมุทรปราการ สมุทรสาคร ชลบุรี และระยอง
ซึ่งข้อมูลจากกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า ในปี 2566 นักท่องเที่ยวเดินทางเพื่อรับการรักษาสุขภาพ/รักษาโรค และทำธุรกิจ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2562 โดยเฉพาะการเดินทางเข้ามาทำธุรกิจที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 1.9% ในปี 2562 เป็น 4.2% ในปี 2566 ซึ่งการเพิ่มขึ้นของจำนวนชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเพื่อทำธุรกิจจะส่งผลให้คนไข้ต่างชาติกลุ่ม EXPAT เพิ่มขึ้น
กลุ่มMedical Tourism ยังเป็นเป้าหมายสำคัญของโรงพยาบาลเอกชน
การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ หรือนักท่องเที่ยวกลุ่ม MedicalTourism เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวสูงกว่าการท่องเที่ยวรูปแบบอื่นๆ อีกทั้งยังต่อยอดและเชื่อมโยงไปยังหลายธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้อีกมาก โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นหัวใจหลักของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ และหลังสถานการณ์โควิดทุเลาลง จะเห็นว่าเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มแรกๆ ที่ส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน ทั้งนี้ ข้อมูลจากกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า ในปี 2566 นักท่องเที่ยวกลุ่ม Medical&Wellness เป็นกลุ่มที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสูงสุด ที่ 99,770 บาทต่อคน เพิ่มขึ้นเกือบหนึ่งเท่าตัว เมื่อเทียบกับปี 2562 นอกจากนี้ ข้อมูลจากกลุ่มกรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) และโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนรายได้จากคนไข้ต่างชาติสูงสุดเป็นสองอันดับแรก พบว่า สัดส่วนรายได้จากคนไข้ต่างชาติของ BDMS และ BH ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ปรับตัวสูงขึ้นจาก 18-21% และ 46-52% ในช่วงปี 2563-2564 มาอยู่ที่ 29% และ 66% ตามลำดับ
ทั้งนี้ KrungthaiCOMPASS ประเมินว่า ในระยะ 1-2 ปีนี้ รายได้จากคนไข้ต่างชาติของโรงพยาบาลเอกชน โดยเฉพาะกลุ่ม MedicalTourism ยังมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่อง โดยได้รับอานิสงส์จากกลุ่มลูกค้าชาวอาเซียน จีน รัสเซีย และตะวันออกกลาง ที่จะยังคงกลับมาใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนในไทย เนื่องจากเชื่อมั่นในคุณภาพการรักษา ค่ารักษาพยาบาลและค่าครองชีพไม่สูงมากเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน อีกทั้งมีมาตรฐานและบริการที่ดี พร้อมทั้งประเทศไทยมีโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน JCI มากถึง 50 แห่ง และมีโอกาสเติบโตต่อเนื่องในระยะ 5-10 ข้างหน้า ตามอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ที่เติบโตทั่วโลก รวมทั้งของไทยด้วย โดยบริษัทวิจัยด้านการตลาด FutureMarketInsights คาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยจะมีมูลค่ากว่า 6.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท ในปี 2577 เติบโตเฉลี่ยปีละ 15.7% (CAGR ปี 2567-2577)
ทั้งนี้ จากผลการสำรวจ MedicalTourismPatientSurveyReport2024 ของ MedicalTourismAssociation และ InternationalHealthcare ResearchCenter ที่ได้ทำการสำรวจเพื่อรวบรวมข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญว่า อะไร? คือเหตุผลสำคัญ และแรงจูงใจ รวมไปถึงข้อกังวลของนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ในยุคหลังโควิด ซึ่งผลการสำรวจ พบว่า นักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ประมาณ 97% มองว่า 'ความไว้วางใจ' เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจไปรับการรักษาพยาบาลในต่างประเทศ โดยนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์กว่า 78% ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับประเด็นนี้ สะท้อนให้เห็นว่า การสร้างความไว้วางใจแก่ผู้ป่วย เป็นหนึ่งในคุณลักษณะที่สำคัญ ที่จะนำมาซึ่งความประทับใจ การพูดถึง และบอกต่อ หรือที่เรียกว่า กลยุทธ์การตลาดแบบปากต่อปาก ซึ่งการสร้างความไว้วางใจนอกจากจะสร้างความเชื่อมั่นในด้านคุณภาพ และมาตรฐานการรักษาที่ดีผ่านรางวัลรับรองในระดับสากลต่างๆ แล้ว การให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วย ตั้งแต่ก่อนเข้ารับการรักษาจนถึงการดูแลหลังการรักษาที่รวดเร็ว และครบถ้วน ผ่านช่องทางการติดต่อที่สะดวก เป็นอีกหนึ่งกระบวนการที่ผู้ให้บริการต้องให้ความสำคัญ
ขณะที่นักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ประมาณ 63% ยอมรับว่า การรับรองมาตรฐานในระดับสากลของสถานพยาบาลมีอิทธิพลโดยตรงต่อการตัดสินใจในการเลือกใช้บริการ และแม้ว่าการตัดสินใจด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์จะถูกขับเคลื่อนโดยการผสมผสานระหว่างคุณภาพ ความไว้วางใจ ต้นทุน และประสบการณ์โดยรวมของผู้ป่วยแล้ว แต่ปัจจัยด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง ตัวเลือกการชำระเงิน ไปจนถึงการดูแลหลังการรักษา ก็มีบทบาทสำคัญที่นักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ให้ความสำคัญ โดย 54% มีความกังวลเกี่ยวกับการติดตามผลหลังการรักษา รวมไปถึงการใช้อุปกรณ์ Medicalwearables และขั้นตอนการสื่อสารที่ดีและมีประสิทธิภาพ ขณะที่ 52% มีความกังวลเกี่ยวกับการเดินทางไปรักษาพยาบาลที่ต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัย ระยะทาง และมาตรฐานทางการแพทย์ของประเทศปลายทาง นอกจากนี้ 58% มีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัย และความสะดวกในการชำระเงินระหว่างประเทศ ทั้งนี้ หากโรงพยาบาลเอกชนของไทยสามารถตอบสนองความต้องการ และปิด Gap ต่างๆ เหล่านี้ได้ครบถ้วน ก็จะทำให้การบริการทางการแพทย์ของไทยก้าวสู่การเป็น World Class Medical Service Hub ได้ไม่ยากนัก
คนไทยทำประกันสุขภาพพุ่ง
ลูกค้ากลุ่มประกันสุขภาพเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ และเป็นเป้าหมายสำคัญที่จะช่วยหนุนรายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังเปราะบาง และแรงกดดันจากปัญหาเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น
ปัจจุบันประชาชนตื่นตัวในเรื่องของการดูแลสุขภาพ การป้องกัน และการรักษาโรค รวมถึงภาระค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้คนตระหนักถึงความสำคัญของการซื้อประกันสุขภาพเพื่อลดความเสี่ยงจากการแบกรับภาระค่ารักษาพยาบาลที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งต้องการความสะดวกสบายจากการใช้บริการในโรงพยาบาลเอกชน สอดคล้องกับผลสำรวจสวัสดิการและสิทธิสุขภาพคนไทยปี 2566 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่ระบุว่า การทำประกันสุขภาพกับบริษัทประกันมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 5.6% ในปี 2556 เป็น 6.4% ในปี 2566
ในช่วงครึ่งปีแรก 2567 เบี้ยประกันสุขภาพรวม[6] มีมูลค่า 67,593 ล้านบาท ขยายตัว 8.8%YoY และหากอีกกลุ่มเป้าหมายสำคัญของธุรกิจเทียบกับครึ่งปีแรก 2562 (ก่อนเกิดวิกฤติโควิด) พบว่า เพิ่มขึ้นถึง 50.3% หรือมากกว่าครึ่งปีแรก 2562 ถึง 1.5 เท่า โดยคิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ยละ 8.5%(CAGR ปี H1/2562-H1/2567) ขณะที่ค่าสินไหมทดแทนต่อเบี้ยประกันที่ถือเป็นรายได้ (Loss Ratio) ของประกันสุขภาพ มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยพบว่า LossRatio ในช่วงครึ่งปีแรก 2567 เพิ่มขึ้นจาก 59.9% ในช่วงครึ่งปีแรก 2562 เป็น 65.9%
อย่างไรก็ดี KrungthaiCOMPASS มองว่า การขยายตัวของประกันสุขภาพยังมี roomtogrow เนื่องจากแม้ว่าเบี้ยประกันสุขภาพรวมต่อจำนวนประชากรต่อรายจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ โดยในครึ่งปีแรก 2567 มีค่าประมาณ 2,066 บาท เท่านั้น และจากข้อมูลของโรงพยาบาลในกลุ่ม BDMS ซึ่งมี MarketShare มากที่สุด พบว่า ในช่วงครึ่งปีแรก 2567 โรงพยาบาลมีรายได้จากลูกค้ากลุ่มประกันสุขภาพเพิ่มขึ้น 12%YoY และเมื่อเทียบสัดส่วนรายได้กับปี 2562 พบว่า ลูกค้ากลุ่มประกันสุขภาพมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 31% เป็น 37% สะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มลูกค้าประกันสุขภาพมีศักยภาพที่จะเข้ามาช่วยหนุนและชดเชยรายได้ของโรงพยาบาลเอกชน ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่เปราะบาง ขณะที่รายได้จากการรับรักษาโควิดหมดลง
3 ปัจจัยท้าทายของธุรกิจ และประเด็นที่ต้องติดตาม
แม้ดูเหมือนว่าธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนจะเป็นธุรกิจที่ค่อนข้างสดใส และมีปัจจัยที่กระทบการดำเนินธุรกิจค่อนข้างน้อย เนื่องจากเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการรักษาชีวิต และหลายคนยอมจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อแลกกับการได้รับการรักษาพยาบาลและการดูแลสุขภาพที่ดีที่สุด แต่ธุรกิจยังมีปัจจัยท้าท้าย และประเด็นสำคัญที่ต้องติดตาม ดังนี้
3 ปัจจัยท้าทายของธุรกิจ
1. การแข่งขันสูง
ธุรกิจมีการแข่งขันสูงจากผู้ประกอบการในประเทศทั้งรายเดิมและรายใหม่ และการแข่งขันจากการช่วงชิงการเป็น MedicalHub ของประเทศในภูมิภาค หลายท่านอาจจะคิดว่า “ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน” เป็นธุรกิจที่มีความมั่นคงและมีความเสี่ยงต่ำ และมองว่าเป็นธุรกิจกึ่งๆ ผูกขาด เพราะเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการรักษาชีวิตผู้คน และมีการลงทุนที่สูง แต่ในปัจจุบันธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เริ่มเห็นภาพการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง เพราะนอกจากจะต้องแข่งขันกับธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนด้วยกันเองแล้ว ยังต้องแข่งขันกับสถานพยาบาลในรูปแบบอื่นๆ ทั้งคลินิกเอกชน โรงพยาบาลรัฐ โดยเฉพาะโรงพยาบาลแพทย์ และโรงพยาบาลศูนย์ตามจังหวัดใหญ่ๆ ที่มีความได้เปรียบเรื่องแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ และบางแห่งมีการปรับปรุงบริการให้ทัดเทียมกับมาตรฐานการบริการของเอกชน
ขณะที่เทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด มีส่วนสำคัญที่ทำให้วิวัฒนาการทางการแพทย์สมัยใหม่ถูกพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง และรวดเร็วกว่าในอดีตเป็นอย่างมาก ซึ่งการนำการแพทย์สมัยใหม่เหล่านั้นมาให้บริการอาจมีต้นทุน และต้องใช้เงินลงทุนที่สูง นั่นแสดงว่า การดำเนินธุรกิจของโรงพยาบาลเอกชนอาจจะต้องเจอโจทย์ท้าทายขึ้น โดยเฉพาะโรงพยาบาลขนาดกลางและเล็กมีโอกาสจะแข่งขันได้ยากขึ้น และนอกจากจะต้องแข่งขันกับธุรกิจบริการด้านสุขภาพในประเทศแล้ว ยังต้องเผชิญการแข่งขันจากการช่วงชิงคนไข้ต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่ม MedicalTourism ที่ทวีความรุนแรงขึ้นหลังสถานการณ์โควิดทุเลาลง จากโรงพยาบาลเอกชนในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลในสิงคโปร์ หรือมาเลเซีย ซึ่งแม้ว่าทั้ง 2 ประเทศ จะมีจำนวนโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรอง JCI ไม่มากเท่าไทย แต่เมื่อพิจารณาผลการดำเนินงานของกลุ่ม IHHHealthcareBerhad ซึ่งเป็นธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนระดับพรีเมียมของมาเลเซียที่เน้นขยายการลงทุนผ่านการเข้าลงทุนในเครือโรงพยาบาลเอกชนที่สำคัญในประเทศที่โดดเด่นด้าน Medical Tourism
ซึ่งปัจจุบัน IHH บริหารเครือโรงพยาบาลผ่านโรงพยาบาล 7 แบรนด์หลัก ได้แก่ Acibadem, MountElizabeth,PrinceCourt,Gleneagles, Fortis,Pantai และ Parkway รวมทั้งหมด 73 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลในมาเลเซีย 16 แห่ง โรงพยาบาลในสิงคโปร์ 4 แห่ง โรงพยาบาลในตุรกีและยุโรป 24 แห่ง และโรงพยาบาลในอินเดีย 29 แห่ง ซึ่งมีอัตราการครองเตียงของโรงพยาบาลในแต่ละประเทศอยู่ระหว่าง 62-70% โดยในปี 2566IHH มีรายได้กว่า 2.1 หมื่นล้านริงกิต (ประมาณ 1.6 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้น 16.4%YoY และมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดเกือบ 1.4 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ เป็นรอง BDMS ไม่มากนัก ซึ่งนับเป็นคู่แข่งที่น่าจับตามอง
นอกจากนี้ การผลักดันและพัฒนาตัวเองให้เป็น MedicalHub แห่งใหม่ ของประเทศในตะวันออกกลาง อาทิ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ที่จัดตั้ง DubaiHealthcareCity หรือ DHCC เพื่อรองรับความต้องการด้านสุขภาพในภูมิภาคตะวันออกกลาง
ซึ่งจากผลสำรวจของ DubaiDigitalAuthority ระบุว่า ในปี 2566 ดูไบมีนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจากทั่วโลกกว่า 691,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่ของนักท่องเที่ยวทางการแพทย์มาจากเอเชีย 33% กลุ่มประเทศ GCC28% และชาวยุโรปและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช 23% และหากมองลึกลงไปถึงความพร้อมในการรองรับผู้ป่วยที่ได้มาตรฐานในระดับสากล พบว่า ปัจจุบัน UAE มีโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน JCI กว่า 110 แห่ง มากกว่าไทยกว่าเท่าตัว
จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นประเด็นที่น่าติดตามต่อไปว่า นับจากนี้การแข่งขันเพื่อช่วงชิงคนไข้ต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่ม MedicalTourism จะทวีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน รวมถึงผู้ประกอบการและภาครัฐของไทย ต้องปรับตัวและมีกลยุทธ์เพื่อรับมือกับการแข่งขันนี้อย่างไร
2. ต้นทุนที่ยังยืนสูง
การบริหารจัดการภายใต้ภาวะต้นทุนที่ยังยืนสูงไม่ว่าจะเป็นค่าไฟฟ้า และต้นทุนทางการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับในอดีต อาจกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ แม้ต้นทุนหลักของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนจะอยู่ที่ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร โดยเฉพาะค่าแพทย์พิเศษ ที่มีสัดส่วนกว่า 42% ซึ่งอาจไม่ได้รับผลกระทบทางตรงจากการที่ภาครัฐมีแนวทางที่จะปรับค่าจ้างขั้นเป็น 400 บาท/วัน ทั่วประเทศ โดยเริ่มมีผลตั้งแต่ 1 ต.ค. 2567 แต่ธุรกิจยังต้องเผชิญกับต้นทุนค่ายาและเวชภัณฑ์ที่มีสัดส่วนประมาณ 24% ที่ทยอยปรับขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2565 รวมไปถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ
ซึ่งรวมไปถึงค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ที่มีสัดส่วนประมาณ 13% ซึ่งต้องยอมรับว่า “ค่าไฟฟ้า” ถือเป็นต้นทุนสำคัญของโรงพยาบาล เนื่องจากต้องที่มีการใช้ไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะในส่วนของเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ของผู้ป่วยใน ที่ส่วนใหญ่จะเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ดังนั้น ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ยังยืนสูง กอปรกับต้นทุนทางการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับในอดีต ส่งผลให้ต้นทุนของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในภาพรวมมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่การส่งผ่านต้นทุนยังทำได้จำกัด เนื่องจากมักถูกขอความร่วมมือจากภาครัฐไม่ให้ปรับขึ้นค่าบริการ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนกดดันความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ
- เทคโนโลยีและเทรนด์การแพทย์สมัยใหม่ที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด
การปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีและเทรนด์การแพทย์สมัยใหม่ เพื่อยกระดับศักยภาพการแข่งขัน ถือเป็นอีกหนึ่งโจทย์ท้าทายสำหรับธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน จากวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่พัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง ทำให้ผู้ประกอบการต้องนำเทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่มาให้บริการรักษาพยาบาลที่มีความซับซ้อน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่คนไข้ว่าประเทศไทยมีเทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่ที่ให้ผลการรักษาที่ดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งมีคุณภาพการรักษาเทียบเท่าประเทศชั้นนำ ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจได้ ซึ่งการนำเข้าเทคโนโลยีเหล่านี้ นอกจากจะมีต้นทุนที่สูงแล้ว การลงทุนเพื่อพัฒนาความพร้อมของบุคลากรก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำควบคู่กันไป ภายใต้สถานการณ์การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นอีกหนึ่งโจทย์ท้าทายที่ธุรกิจต้องหาแนวทาง และอัปเกรดองค์ความรู้ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว
3 ประเด็นที่ต้องติดตาม
- การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจีน
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจีนที่เป็นอีกหนึ่งกลุ่ม MedicalTourism ที่สำคัญ ซึ่งข้อมูลจากผลสำรวจโรงพยาบาลเอกชนของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ก่อนเกิดโควิด จีน ติด 1 ใน 3 อันดับแรก ของผู้ป่วยชาวต่างชาติที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชนของไทย โดยมีสัดส่วนประมาณ 14-16% ของจำนวนผู้ป่วยต่างชาติรวม ซึ่งแม้ว่าการแพร่ระบาดของโควิดจะคลี่คลายลง แต่คาดว่าผู้ป่วยชาวจีนอาจจะยังไม่กลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิดได้ใน 1-2 ปีนี้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศจีนที่ขยายตัวต่ำ ส่งผลให้ชาวจีนระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายมากขึ้น กอปรกับต้นทุนในการเดินทางมายังต่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ในระยะ 1-2 ปี ข้างหน้านี้เช่นกัน นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังได้ขยายประกันสุขภาพครอบคลุมค่าทำ IVF และรักษาภาวะมีบุตรยากสำหรับการรักษาในโรงพยาบาลในประเทศ จึงเป็นประเด็นที่น่าติดตามว่าจะกระทบกับกลุ่มลูกค้า IVF ชาวจีนมากน้อยเพียงใด?
- สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศหรือปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์
ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะปัญหาสงครามระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่ส่งผลกระทบกับภาคการท่องเที่ยวไทยมากนัก แต่ก็ถือเป็นประเด็นที่ยังต้องจับตา เนื่องจากหากปัญหาความขัดแย้งทวีความรุนแรงขึ้น ก็อาจส่งผลกระทบให้คนไข้กลุ่มตะวันออกกลางเดินทางมาไทยลดลง
- นโยบายดึงดูดนักท่องเที่ยว และการลงทุนจากต่างชาติของรัฐบาล
จากกรณีการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลล่าสุด เป็นประเด็นที่ต้องจับตาถึงความต่อเนื่องในการผลักดันนโยบาย MedicalHub ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น รวมไปถึงการผลักดันนโยบายดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ และการลงทุนจากต่างชาติ ที่จะมีส่วนส่งเสริมให้จำนวนคนไข้ต่างชาติเพิ่มขึ้นในทั้งส่วนของกลุ่ม Medical Tourism และคนไข้กลุ่ม EXPAT
Summary
=KrungthaiCOMPASS มองว่าเป็นธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนยังมีศักยภาพในการเติบโต โดยในปี 2567 คาดว่า ธุรกิจจะขยายตัวในกรอบ 8-12%YoY และมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่องในกรอบ 6-10%YoY ในปี 2568 โดยธุรกิจยังมีปัจจัยสนับสนุนที่แข็งแกร่งตามโครงสร้างพื้นฐานเดิมที่ยังส่งผลอยู่ ขณะที่การพัฒนาด้านการแพทย์สมัยใหม่ ทำให้เกิดการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งตามมาด้วยค่ารักษาพยาบาลที่ค่อนข้างสูง หรือที่เรียกว่า การแพทย์มูลค่าสูง อาทิ การแพทย์แม่นยำ ซึ่งจะส่งผลดีต่อรายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากการฟื้นตัวเต็มที่ของกลุ่ม Medical Tourism
=กลุ่ม MedicalTourism ยังเป็นเป้าหมายสำคัญของโรงพยาบาลเอกชน โดย KrungthaiCOMPASS ประเมินว่า ในระยะ 1-2 ปีนี้ รายได้จากคนไข้ต่างชาติของโรงพยาบาลเอกชน โดยเฉพาะกลุ่ม MedicalTourism ยังมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่อง โดยได้รับอานิสงส์จากกลุ่มลูกค้าชาวอาเซียน จีน รัสเซีย และตะวันออกกลาง ที่จะยังคงกลับมาใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนในไทย เนื่องจากเชื่อมั่นในคุณภาพการรักษา ค่ารักษาพยาบาลและค่าครองชีพไม่สูงมากเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน อีกทั้งมีมาตรฐานและบริการที่ดี พร้อมทั้งประเทศไทยมีโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน JCI มากถึง 50 แห่ง และมีโอกาสเติบโตต่อเนื่องในระยะ 5-10 ปี ข้างหน้า ทั้งนี้ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยจะมีมูลค่ากว่า 6.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท ในปี 2577 เติบโตเฉลี่ยปีละ 15.7% (CAGR ปี 2567-2577)
=3 ปัจจัยท้าทายของธุรกิจ ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า ได้แก่ 1) การแข่งขันสูง จากผู้ประกอบการในประเทศทั้งรายเดิมและรายใหม่ และการแข่งขันจากการช่วงชิงการเป็น MedicalHub ของประเทศในภูมิภาค 2) ต้นทุนที่ยังยืนสูง ธุรกิจต้องเผชิญกับการบริหารจัดการภายใต้ภาวะต้นทุนที่ยังยืนสูง ไม่ว่าจะเป็นค่าไฟฟ้า หรือต้นทุนทางการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับในอดีต ที่อาจกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ 3) เทคโนโลยีและเทรนด์การแพทย์สมัยใหม่ที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด การปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีและเทรนด์การแพทย์สมัยใหม่ เพื่อยกระดับศักยภาพการแข่งขัน ถือเป็นอีกหนึ่งโจทย์ท้าทายสำหรับธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน