กกร. ประจำเดือนกันยายน 2567

  • เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่อง เครื่องชี้ด้านการผลิต PMIManufacturing เดือนสิงหาคมของประเทศหลักทั้งสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ต่างหดตัว โดยสหรัฐฯส่งสัญญาณพร้อมปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเนื่องจากอาจเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่ค่าระวางเรือยังสูงกว่าย่ภาวะปกติ 3 เท่าตัวเป็นปัจจัยลบต่อการค้าโลก อย่างไรก็ตาม การส่งออกของไทยในเดือนกรกฎาคมเติบโตถึง 15.2% จากแรงหนุนของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ของโลก และคาดว่าทั้งปีจะเติบโตได้ 1.5-2.5% สูงกว่าประมาณการเดิมที่ 0.8-1.5% แต่การเติบโตดังกล่าวยังกระจุกตัวอยู่เฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ได้เป็นการเติบโตในวงกว้าง 
  • อุปสงค์ภายในประเทศของไทยยังอ่อนแรงสะท้อนจากการลงทุน แม้ว่ารัฐเร่งเบิกจ่ายงบประมาณลงทุน ทำให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเติบโตเฉลี่ยได้กว่า 20% ในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม เศรษฐกิจในไตรมาสที่สองที่ผ่านมายังชะลอตัว โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนหดตัวมากถึง 6.8% เหตุสำคัญจากกลุ่มยานยนต์ที่ยอดขายในประเทศลดลงถึง 24% โดยการลงทุนในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มชะลอสะท้อนจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคธุรกิจที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง
  • ภาวะอุทกภัยที่เกิดขึ้นถือเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติม โดยคาดว่ามูลค่าความเสียหาย สำหรับช่วงเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายนจะอยู่ที่ราว 6-8 พันล้านบาท หรือ 0.03-0.04% ของจีดีพีซึ่งภาคเกษตรได้รับผลกระทบมากที่สุด ส่วนในระยะถัดไปต้องติดตามพายุที่อาจจะเข้าได้ช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคม ถือเป็นความเสี่ยงต่อสถานการณ์น้ำท่วมที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติม

กรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 ของ กกร.

%YoY

ปี 2567

(ณ ก.ค. 67)

ปี 2567

(ณ ส.ค. 67)

ปี 2567

(ณ ก.ย. 67)

GDP

2.2 ถึง 2.7

2.2 ถึง 2.7

2.2 ถึง 2.7

ส่งออก

0.8 ถึง 1.5

0.8 ถึง 1.5

1.5 ถึง 2.5

เงินเฟ้อ

0.5 ถึง 1.0

0.5 ถึง 1.0

0.5 ถึง 1.0

 

  • กกร. แสดงความกังวลต่อสถานการณ์น้ำและอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางตอนบน จึงมีมติให้จัดตั้งคณะทำงานย่อยจัดทำข้อเสนอด้านการบริหารจัดการน้ำ เพื่อเสนอต่อภาครัฐ โดยเน้นการวางแผนระยะยาวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมซ้ำรอยเหมือนปี 2554 โดยมุ่งเน้นการพัฒนาแหล่งน้ำและเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการน้ำทั่วประเทศ เพื่อให้การบริหารน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงจากน้ำท่วม และเพิ่มศักยภาพในการกักเก็บน้ำ นอกจากนี้ ยังมีการเสนอให้มีการเชื่อมโยงระหว่างความต้องการน้ำ (Demand) และการจัดหาน้ำ (Supply) เพื่อให้สามารถจัดการน้ำได้อย่างเหมาะสม แม้ว่าสถานการณ์น้ำท่วมปัจจุบันจะไม่รุนแรงเท่าปี 2554 แต่คาดว่าในปี 2567 จะยังมีพายุพัดผ่านประเทศไทยอีก 2 ลูก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2567 จึงต้องมีการเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงในจังหวัดอ่างทองและพระนครศรีอยุธยา ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา นอกจากนี้ กกร. เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำข้อมูลการเคลื่อนที่ของมวลน้ำในรูปแบบที่เข้าใจง่าย เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์น้ำได้อย่างทันท่วงที และมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในการฟื้นฟูธุรกิจ เช่น มาตรการทางภาษี มาตรการบรรเทาต้นทุนการผลิต และมาตรการทางการเงิน เป็นต้น
  • กกร.สนับสนุนแนวทางการยกระดับมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงินของภาคธนาคาร ที่ได้ยกระดับการจัดการบัญชีม้าให้เข้มข้นขึ้น  โดยจัดกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงเป็นบัญชีม้าดำ ม้าเทา และม้าน้ำตาล โดยมีการแชร์ข้อมูลระหว่างกันของภาคธนาคาร พร้อมเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และฐานข้อมูลCentral Fraud Registry (CFR) เพื่อจัดการบัญชีม้าเดิมและป้องกันการเปิดบัญชีม้าใหม่ โดยหากบุคคลใดถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงจะถูกระงับบัญชีทั้งหมด และไม่ให้เปิดบัญชีใหม่ นอกจากนี้ยังจะขยายผลไปยังบัญชีนิติบุคคลซึ่งมีข้อมูลว่า บัญชีที่ถูกเปิดโดยนิติบุคคล มีรายชื่อกรรมการเชื่อมโยงกับบัญชีม้าจำนวนมาก พร้อมกันนี้ สมาคมธนาคารไทย และธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ  คือ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ  ภาคธนาคาร เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ไปจนถึงผู้ให้บริการคริปโตเคอร์เรนซี เพื่อให้สามารถจัดการบัญชีม้าอย่างมีประสิทธิภาพ
  • ที่ประชุม กกร. มีความยินดีที่รัฐบาลสามารถจัดตั้งคณะรัฐมนตรีได้อย่างรวดเร็ว พร้อมเดินหน้าแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศได้ ซึ่งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้มีโอกาสเข้าพบท่านนายกรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งมีโรงงานปิดตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 7 เดือนแรกกว่า 757 แห่ง มีหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง เศรษฐกิจนอกระบบมีขนาดใหญ่ ที่ประชุม กกร. จึงได้เร่งจัดทำสมุดปกขาว นำเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อพิจารณาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า
Visitors: 7,897,056