ศักยภาพแอฟริกา กับบทบาทการเป็นผู้ผลิตอาหารของโลกในอนาคต โอกาสของธุรกิจเกษตรกรไทย

  • ตลาดสินค้าเกษตรและอาหารของแอฟริกาคาดว่าจะมีมูลค่าถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2030 จากในปี 2023 ที่มีมูลค่าราว 280 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จากการตื่นตัวในการพัฒนาพันธุ์พืชที่ทำให้มีความหลากหลายสูงขึ้น รวมถึงยังสามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ จากการเข้าถึงแหล่งผลิตปุ๋ยและเทคโนโลยีในการปรับปรุงดิน นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ให้ขยายการเพาะปลูกได้อีกมาก
  • ตลาดสินค้าเกษตรและอาหารในแอฟริกายังมี Room to Grow อีกมาก จึงเป็นโอกาสในการเข้าไปลงทุนของผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพ ได้แก่ 1) ธุรกิจเมล็ดพันธุ์ที่คาดว่าจะมีมูลค่าตลาด 100 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2030 หรือเติบโตปีละ 11.1%CAGR (2022-2030) 2) ธุรกิจให้บริการเทคโนโลยีเกษตรทันสมัย เช่น จักรกลเกษตร โดรน การจัดการฟาร์มและแพลตฟอร์มตลาด ที่คาดว่าจะมีมูลค่าตลาด 3.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2030 หรือเติบโตปีละ 6.4%CAGR (2024-2030)
  • Krungthai COMPASS แนะนำให้ผู้ประกอบการศึกษากฎเกณฑ์และระเบียบการลงทุนในตลาดแอฟริกา และอาจเริ่มจากการร่วมทุนกับนักลงทุนท้องถิ่นเพื่อช่วยให้เข้าใจตลาดในแอฟริกามากขึ้น นอกจากนี้ ควรติดตามเทรนด์สินค้าเกษตรในแอฟริกา โดยเฉพาะเทรนด์การผลิตที่ยั่งยืน ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตสอดรับกับการค้าโลกที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม

ทวีปแอฟริกาจัดว่าเป็นกลุ่มประเทศที่เผชิญความยากจนและมีความมั่นคงทางอาหารในระดับต่ำจากการใช้ทรัพยากรด้านการเกษตรที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ต้องมีการนำเข้าอาหารเพื่อบริโภคกว่า 50 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี[1]อย่างไรก็ตาม ล่าสุดทวีปแอฟริกาถูกจับตามองว่าจะเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลกแห่งใหม่ ดังจะเห็นได้จากมีข่าวว่า ประเทศ Morocco มีการขุดพบแหล่งปุ๋ยธรรมชาติจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้การเพาะปลูกพืชในแอฟริกามีต้นทุนถูกลงจากการที่มีแหล่งผลิตปุ๋ยอยู่ใกล้ภูมิภาค[2] ดังนั้น จึงมีคำถามที่สำคัญว่า หากแอฟริกามีศักยภาพที่จะยกระดับเป็นผู้ผลิตอาหารโลกในอนาคต ผู้ประกอบการไทยจะเกาะเกี่ยวไปกับโอกาสนี้ได้อย่างไร แต่ก่อนที่จะตอบคำถามนั้นอยากชวนผู้อ่านมาทำความเข้าใจกันก่อนว่าทำไมแอฟริกาจึงมีศักยภาพที่จะเป็นผู้ผลิตอาหารโลก

ทำไมแอฟริกาจึงมีศักยภาพเป็นผู้ผลิตอาหารโลก?

ทวีปแอฟริกามีโอกาสที่จะสามารถยกระดับไปสู่การเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการผลิตอาหารโลก โดยคาดว่าตลาดสินค้าเกษตรและอาหารของแอฟริกาจะมีมูลค่าถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2030 จากราว 280 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2023[3]โดยมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ 1) แอฟริกาตื่นตัวในการพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชด้วยเทคโนโลยีชีวภาพและพันธุศาสตร์ 2) ผลผลิตต่อไร่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการเข้าถึงแหล่งผลิตปุ๋ยที่มากขึ้น รวมถึงเทคโนโลยีในการปรับปรุงดินที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และ 3) แอฟริกาสามารถขยายพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตรได้อีกมาก จากภูมิศาสตร์ที่ยังมีพื้นที่ว่างอีกจำนวนมาก โดยในแต่ละปัจจัยมีรายละเอียดดังนี้

ปัจจัยแรก กลุ่มประเทศแอฟริกาตื่นตัวในการพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชด้วยเทคโนโลยีชีวภาพและพันธุศาสตร์ โดยรายงานล่าสุดของ International Service for the Acquisition of Agri-biotech Applications (ISAAA) ซึ่งเป็นสถาบันระดับโลกที่ทำการศึกษาและผลักดันเกี่ยวกับพืชที่พัฒนาด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ[4]  ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับสถานภาพระดับโลกของพืชเทคโนโลยีชีวภาพเชิงพาณิชย์ พบว่า กลุ่มประเทศแอฟริกานับได้ว่าเป็นภูมิภาคที่มีการตื่นตัวและพัฒนาพืชจากเทคโนโลยีชีวภาพ โดยมีจำนวนประเทศที่ปลูกพืชจากเมล็ดพันธุ์ชีวภาพเพิ่มขึ้นจาก 3 ประเทศ เป็น 6 ประเทศ โดยเฉพาะประเทศแอฟริกาใต้ที่ในปัจจุบัน 85% ของข้าวโพดที่เพาะปลูกในประเทศ เป็นข้าวโพดที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ให้ทนต่อสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีจำนวนสูงถึง 236 สายพันธุ์ ให้ผลผลิตที่ราวปีละ 15 ล้านตัน[5] ประกอบกับข้อมูลมูลค่าตลาดเมล็ดพันธุ์ชีวภาพของกลุ่มประเทศแอฟริกายังชี้ให้เห็นว่า ตลาดเทคโนโลยีเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ชีวภาพของทวีปแอฟริกามีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยข้อมูลจาก Mordor Intelligence พบว่า ตลาดเมล็ดพันธุ์ชีวภาพของแอฟริกามีแนวโน้มเติบโตไปอยู่ที่ 4.18 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเติบโตราวปีละ 4.9%CAGR (2024-2030) จากในปี 2024 ที่อยู่ที่ราว 3.12 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

ปัจจัยที่สอง ผลผลิตทางการเกษตร (Yield) มีโอกาสเพิ่มได้อีก จากการใช้ปุ๋ยและการใช้เทคโนโลยีปรับปรุงดินที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งข้อมูลจาก UN Food and Agriculture Organization (ภาพบน) พบว่า ที่ผ่านมา ผลผลิตต่อไร่ของพืชเกษตรในกลุ่มประเทศแอฟริกาจะอยู่ในระดับต่ำกว่าทวีปอื่นๆ เช่น ผลผลิตธัญพืชในกลุ่มประเทศแอฟริกา ที่มีผลผลิตอยู่ที่ราว 1.8 ตัน/เฮกตาร์ ขณะที่ผลผลิตธัญพืชของกลุ่มประเทศในแถบอเมริกาเหนืออยู่ราว 7.1 ตัน/เฮกตาร์ ประกอบกับข้อมูลการใช้ปุ๋ยในกลุ่มประเทศแอฟริกายังอยู่ในระดับต่ำ โดยข้อมูลจาก FAO(ภาพล่าง) พบว่า กลุ่มประเทศแอฟริกา อาทิเช่น ไนจีเรีย กาน่า และเอธิโอเปีย มีปริมาณการใช้ปุ๋ยอยู่ที่ราว 15-40 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์ ขณะที่ประเทศจีน หรือบราซิล มีปริมาณการใช้ปุ๋ยอยู่ที่ราว 300-320 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์ ซึ่งเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผลผลิตพืชเกษตรในทวีปแอฟริกามี Yield อยู่ในระดับต่ำ หากเทียบกับประเทศอื่นๆที่มีการเข้าถึงปุ๋ยเคมีได้มากกว่า

ปัจจัยที่สาม กลุ่มประเทศแอฟริกาสามารถขยายพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตรได้อีกมาก จากภูมิศาสตร์ที่ยังมีพื้นที่ว่างที่มีศักยภาพในการทำการเกษตรอีกจำนวนมาก โดยทวีปแอฟริกาจัดว่าเป็นทวีปที่มีขนาดใหญ่เป็นอับดับ 2 ของโลกรองจากเอเชีย ด้วยพื้นที่ประมาณ 30.4 ล้านตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 1.9 หมื่นล้านไร่ ซึ่งแบ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตรอยู่ที่ 11.3 ล้านตารางกิโลเมตร หรือ 7 พันล้านไร่ อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากเว็บไซต์ World Economic Forum ในบทความเรื่อง 2 truths about Africa's agriculture ระบุว่า ในปัจจุบันกลุ่มประเทศแอฟริกามีพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกถึงประมาณ 60% ของพื้นที่ทั้งหมดของทวีปแอฟริกาหรือราว 1.1 หมื่นล้านไร่ ส่วนพื้นที่ที่เหลือประกอบไปด้วยพื้นที่ทะเลทรายที่มีความแห้งแล้งอีกประมาณ 40% หรือราว 0.8 ล้านไร่ อย่างไรก็ดี แอฟริกายังได้รับแรงหนุนจากเงินลงทุนด้านการบริหารจัดการน้ำที่คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 65 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจะช่วยให้สามารถขยายพื้นที่เพาะปลูกเข้าไปในพื้นที่แห้งแล้งได้ราว 5-15%

แล้วธุรกิจเกษตรไหนของไทยจะสามารถเกาะเกี่ยวไปกับโอกาสนี้ได้บ้าง

Krungthai COMPASS มองว่า ตลาดสินค้าเกษตรและอาหารในแอฟริกาที่ยังมี Room to Grow อีกมาก จะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในกลุ่มธุรกิจที่เมล็ดพันธุ์ และธุรกิจให้บริการด้านเทคโนโลยีเกษตรทันสมัย เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ประกอบการไทยทั้งรายใหญ่ และผู้ประกอบการ Startup ที่มีความเชี่ยวชาญเข้าไปลงทุนธุรกิจเมล็ดพันธุ์ในแอฟริกา ซึ่งคาดว่าตลาดเมล็ดพันธุ์ในแอฟริกาจะอยู่ที่ราว 100 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2030 หรือเติบโตปีละ 11.1%CAGR (2022-2030) [7]รวมถึงธุรกิจให้บริการ

ด้านเทคโนโลยีเกษตรทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคโนโลยีในการวิเคราะห์ดินเพื่อให้เหมาะกับการใช้ปุ๋ยในแต่ละพื้นที่ หรือการใช้ IoT ในการบริหารจัดการสวนหรือฟาร์ม ไปจนถึงจักรกลเกษตรระบบอัตโนมัติ ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ราว 3.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2030 หรือเติบโตปีละ 6.4%CAGR (2024-2030)[8]จึงเป็นโอกาสในการต่อยอด และขยายตลาดเพื่อตอบโจทย์ความต้องการในตลาดโลก โดยเฉพาะในตลาดแอฟริกาที่กำลังมีแนวโน้มเติบโตในภาคเกษตร  แต่ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงเทคโนโลยี

Recommendation

ผู้ประกอบการที่สนใจในตลาดนี้ ควรศึกษากฎเกณฑ์และระเบียบข้อบังคับในตลาดแอฟริกา เนื่องจากในแต่ละประเทศจะมีกฎระเบียบทางการค้าและการลงทุนที่แตกต่างกัน เช่น ข้อบังคับเงินทุนขั้นต่ำในการจัดตั้งบริษัท อีกทั้งยังมีความแตกต่างกันในแง่ของภาษาท้องถิ่นที่ใช้ในเอกสารราชการ ดังนั้นการเข้าตลาดโดยเริ่มจากการร่วมลงทุนกับนักลงทุนท้องถิ่นในแอฟริกาจะเป็น QuickWin ให้เข้าใจตลาดในแอฟริกามากขึ้น นอกจากนี้ ควรติดตามเทรนด์ของสินค้าเกษตรในตลาดแอฟริกา  โดยเฉพาะเทรนด์การผลิตที่ยั่งยืนในภาคเกษตรซึ่งมีแนวโน้มเติบโตสอดรับกับการค้าโลกที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

Visitors: 7,892,459