SCB EIC คาด กนง. จะเริ่มลดดอกเบี้ยในไตรมาส 4

กนง. มีมติไม่เป็นเอกฉันท์6 ต่อ 1 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% โดย 1 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ย 0.25%เช่นเดียวกับการประชุมครั้งที่แล้ว โดยเศรษฐกิจไทยในภาพรวมขยายตัวสอดคล้องกับที่ กนง. ประเมินไว้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงกว่าที่ประเมินไว้บ้างจากปัจจัยด้านอุปทานและจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 1-3% ในช่วงปลายปีนี้ อย่างไรก็ดี SCB EIC ประเมินว่าการสื่อสารของ กนง. ในรอบนี้มีท่าที Dovish มากขึ้น จาก 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) กนง. ประเมินว่าอุปสงค์ในประเทศมีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า การบริโภคภาคเอกชนจะมีแนวโน้มชะลอลง และยังต้องติดตามว่าการลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวแรงในไตรมาส 2 เป็นปัจจัยชั่วคราวมากเพียงใด 2) กนง. ให้ความสำคัญของการฟื้นตัวที่ไม่เท่ากันในแต่ละภาคส่วนเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเฉพาะในภาคการผลิตที่สินเชื่ออุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์หดตัว และ 3) กนง. เริ่มให้ความสำคัญกับการติดตามความเชื่อมโยงระหว่างพัฒนาการของเศรษฐกิจและภาวะการเงิน ซึ่งสะท้อนความกังวลที่เพิ่มขึ้นว่า
ภาวะการเงินที่ตึงตัวขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดยเฉพาะจากคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง
ซึ่งส่งผลให้มาตรฐานการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินเข้มงวดขึ้น และอาจกระทบกิจกรรมเศรษฐกิจตามมา

 

IMPLICATIONS

SCB EIC คาด กนง. จะเริ่มลดดอกเบี้ยในไตรมาส 4 และจะลดอีกครั้งในไตรมาส 1/2025เพื่อช่วยผ่อนคลายภาวะการเงินในประเทศ หลังจากภาวะการเงินตึงตัวขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับความเปราะบางทางการเงินของภาคธุรกิจและครัวเรือนที่มีอยู่เดิม ส่งผลให้แรงส่งเศรษฐกิจไทยจากอุปสงค์ในประเทศแผ่วลงจะเห็นชัดเจนขึ้นในช่วงปลายปีนี้นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยในปีหน้ายังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศ ทำให้นโยบายการเงินไทยจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทประคับประคอง Momentum ของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ามากขึ้น

SCB EIC มองว่าพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยในระยะสั้นยังคงเป็นไปตามที่ กนง. ประเมินไว้ สะท้อนจากตัวเลขการขยายตัวของ GDP ไตรมาส 2 ที่ออกมาใกล้เคียงกับตลาดคาดการณ์ อย่างไรก็ดี หากพิจารณาองค์ประกอบการขยายตัวจะเริ่มเห็นสัญญาณการชะลอลงของแรงส่งอุปสงค์ในประเทศ (รูปที่ 1) สะท้อนว่าในระยะข้างหน้ามีความเสี่ยงที่อุปสงค์ในประเทศจะไม่สามารถเป็นแรงประคับประคองเศรษฐกิจได้เหมือนที่ผ่านมา ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย และหากขจัดปัจจัยฐานและปัจจัยชั่วคราวจากราคาพลังงานและอาหารสดออกแล้ว อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานก็ยังอยู่ในระดับต่ำมาอย่างต่อเนื่อง สะท้อนแรงกดดันด้านอุปสงค์ในประเทศที่มีต่ำ สัญญาณการชะลอลงของอุปสงค์ในประเทศนี้ทำให้ SCB EIC มองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2025 อาจขยายตัวต่ำกว่าที่ได้ประเมินไว้

ภาวะการเงินไทยโดยรวมอยู่ในระดับตึงตัว สะท้อนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริง (รูปที่ 2) ซึ่งเพิ่มขึ้นสูงกว่าในอดีตค่อนข้างเร็ว นอกจากนี้ ภาคครัวเรือนอาจเผชิญภาวะการเงินตึงตัวแรงกว่าภาคส่วนอื่น เพราะได้รับผลกระทบจากมาตรฐานการให้สินเชื่อครัวเรือนของสถาบันการเงิน โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ ที่ปรับเข้มงวดขึ้นต่อเนื่อง (รูปที่ 3) ทำให้ภาคครัวเรือนสามารถก่อหนี้ได้น้อยลงกว่าในอดีตมาก การเริ่มลดดอกเบี้ยในภาวะเช่นนี้จึงไม่ได้มีผลกระตุ้นการก่อหนี้มากจนน่ากังวล และไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการลดหนี้ในระบบเศรษฐกิจ (Debt Deleveraging) นอกจากนี้ สภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจในช่วงปลายปีจะเป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากภาวะการเงินโลกมีแนวโน้มผ่อนคลายมากขึ้น ตามทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกอบกับเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะเผชิญความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ หลังการเลือกตั้งในปีนี้ และความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจไทยที่สูงขึ้น SCB EIC จึงประเมินว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1 ครั้งปลายปีนี้เหลือ 2.25% และปรับลดอีกครั้งเหลือ 2% ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปีหน้า

 

รูปที่ 1 : แรงส่งจากอุปสงค์ในประเทศเริ่มมีสัญญาณแผ่วลง

รูปที่ 2 : อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงสูงกว่าในอดีตต่อเนื่อง

รูปที่ 3 : ภาคครัวเรือนเผชิญภาวะการเงินตึงตัวแรง จากมาตรฐานการให้สินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น

บทวิเคราะห์โดย...https://www.scbeic.com/th/detail/product/policy-rate-210824

ผู้เขียนบทวิเคราะห์

นนท์ พฤกษ์ศิริ (nond.prueksiri@scb.co.th)

นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส

 

ECONOMIC AND FINANCIAL MARKET RESEARCH

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ

รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC)

และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

 

ดร.ฐิติมา ชูเชิด

ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาค

ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์

นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส

นนท์ พฤกษ์ศิริ

นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส

วิชาญ กุลาตี

นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส

ณฐพงศ์ ตันติจิรานนท์

นักเศรษฐศาสตร์

ปัณณ์ พัฒนศิริ

นักเศรษฐศาสตร์

ภาวัต แสวงสัตย์

นักเศรษฐศาสตร์

 

 

Visitors: 7,892,460