MEDEZE เซ็นสัญญา “Shibuya” ซื้อระบบเพาะเลี้ยงเซลล์อัตโนมัติ ระบบอัจฉริยะเสริมศักยภาพธนาคารเซลล์แห่งใหม่ คาดส่งมอบมิ.ย.69

 “เมดีซ กรุ๊ป” ลงนามสัญญากับ “ชิบุยะ คอร์ปอเรชั่น” หนึ่งในผู้นำด้านเทคโนโลยี  ในการซื้อระบบเพาะเลี้ยงเซลล์อัตโนมัติ ระบบอัจฉริยะเสริมศักยภาพธนาคารเซลล์ แห่งโลกอนาคต คาดส่งมอบมิ.ย. 69 ตอกย้ำหนึ่งในผู้นำการพัฒนา และนำเสนอโซลูชั่นด้านสเต็มเซลล์ที่โดดเด่นทั้งในไทย และภูมิภาค

นายแพทย์วีรพล เขมะรังสรรค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมดีซ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ MEDEZE เปิดเผยว่า บริษัทได้ลงนามในสัญญาการจัดซื้อระบบเพาะเลี้ยงเซลล์อัตโนมัติร่วมกับ บริษัท ชิบุยะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ โดยระบบดังกล่าวเป็นระบบอัจฉริยะที่จะถูกติดตั้ง ณ สถานประกอบการธนาคารเซลล์อาคารแห่งใหม่ของ MEDEZE ซึ่งขยายการให้บริการจัดเก็บเซลล์ต้นกำเนิดจากเนื้อเยื่อสายสะดือ และเนื้อเยื่อไขมัน ตลอดจนการจัดเก็บเลือดจากสายสะดือ และเซลล์รากเส้นผม โดยคาดว่าจะสามารถส่งมอบระบบดังกล่าวได้ภายในเดือนมิถุนายน 2569 ซึ่งระบบอัจฉริยะดังกล่าว จะสามารถเสริมศักยภาพธนาคารเซลล์ และจะเป็นการตอกย้ำหนึ่งในการเป็นผู้นำในการพัฒนา และนำเสนอโซลูชั่นด้านสเต็มเซลล์ที่โดดเด่นทั้งในประเทศไทย และในภูมิภาค

ขณะที่ MR.HIDETOSHI SHIBUYA บริษัท ชิบุยะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า บริษัท เมดีซ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ MEDEZE เป็นธนาคารเซลล์ต้นกำเนิดมีเซนไคม์ที่มีประสบการณ์ และใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งระบบเพาะเลี้ยงเซลล์อัตโนมัติที่ชิบุยะนำเสนอให้กับ MEDEZE จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการจัดเก็บเซลล์ และช่วยลดข้อจำกัดด้านต้นทุนในการจัดเก็บ และไม่จำเป็นต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์ในการปฏิบัติงาน ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงเซลล์ได้อีกด้วย

โดยระบบดังกล่าวถือว่าเป็นระบบเพาะเลี้ยงเซลล์อัตโนมัติสำหรับเซลล์ต้นกำเนิดระบบแรกของโลก ซึ่งสามารถบูรณาการเทคโนโลยีการควบคุมสภาวะปลอดเชื้อ เทคโนโลยีการผลิตเซลล์ และเทคโนโลยีการขนส่งอัตโนมัติ ซึ่งระบบการทำงานประกอบด้วย หน่วยประมวลผลเซลล์ (Cell Processing Unit) ซึ่งดำเนินกระบวนการเพาะเลี้ยงเซลล์ทั้งมวลโดยอัตโนมัติ ตั้งแต่การจัดส่งจนถึงการเปลี่ยนอาหารเลี้ยงเซลล์ และการเพาะเลี้ยงภายใต้สภาวะปลอดเชื้อ, หน่วยเพาะเลี้ยง (Incubation Unit) ทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิ และความชื้นสำหรับเซลล์ของผู้รับบริการแต่ละรายในหน่วยเพาะเลี้ยงเซลล์ขนาดเล็กที่แยกอิสระจำนวนประมาณ 100 ยูนิต เพื่อลดความเสี่ยงในการปนเปื้อน และดำรงไว้ซึ่งสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมที่สุด และหน่วย AiV (AiV Unit) ที่ทำการขนส่งเซลล์แต่ละชุดโดยใช้หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ AMR (Autonomous Mobile Robot) ซึ่งใช้กระบวนการที่ได้รับการปรับให้เหมาะสมด้วยระบบ AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งหน่วยหลักทั้งสามสามารถทำงานเชื่อมต่อกัน และบันทึกข้อมูลการผลิตโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์ในการปฏิบัติงาน ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บเซลล์ และลดปัญหาการปนเปื้อนได้

“เรามีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนา และใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยในการทำให้ประสิทธิภาพของการจัดเก็บเซลล์สูงขึ้น และเป็นไปตามมาตรฐานสากล และด้วยการยกระดับความปลอดภัยของกระบวนการจัดเก็บเซลล์ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในธนาคารเซลล์ จะช่วยลดความเสี่ยงอันเกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์ รวมถึงระบบนี้จะเพิ่มประสิทธิภาพให้สามารถผลิต และจัดเก็บเซลล์ที่มีคุณภาพสูงได้อย่างมั่นคง และจัดหาบริการที่ปลอดภัย และมีราคาที่สมเหตุสมผลยิ่งขึ้น” นายแพทย์วีรพลกล่าว

Visitors: 8,261,985