SAF เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน กุญแจสำคัญของอุตสาหกรรมการบินคาร์บอนต่ำ
Key Highlights
=อุตสาหกรรมการบินถือเป็นหนึ่งในภาคขนส่งที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ในระดับสูง คิดเป็นสัดส่วนราว 2% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก ทำให้จำเป็นต้องเร่งดำเนินการ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2593 ซึ่งหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญ ได้แก่ เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน
(Sustainable Aviation Fuel: SAF) ที่สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึงราว 80% เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงฟอสซิล
=KrungthaiCOMPASS ประเมินว่า ในปี 2580 มูลค่าตลาด SAF ของไทยจะสูงถึง 6.3 หมื่นล้านบาท จากในปี 2569 ที่คาดว่าจะมีมูลค่า 5.4 พันล้านบาท หรือเติบโตเฉลี่ยสูงถึงปีละ 25%CAGR จากเป้าหมายการใช้ SAF ของไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งหากภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกันในการสนับสนุนการใช้ SAF ตามป้าหมายที่จะให้สายการบินใช้ SAF ในสัดส่วน 8% ในปี 2580 คาดว่าจะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 2.3 ล้านตันต่อปี หรือราว 11% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคการขนส่งทางอากาศของไทย
=อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตและการใช้ SAF ยังมีความท้าทายและต้องอาศัยความร่วมมือกันทั้ง Ecosystem โดยผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการบินควรวางแผนและกำหนดเป้าหมายการใช้ SAF มากขึ้น ส่วนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพควรสร้างเครือข่ายในการจัดหาและการผลิต SAF
ขณะที่ภาครัฐควรมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต SAF รวมทั้งออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนและการใช้ SAF อย่างเป็นรูปธรรม
ปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (ClimateChange) ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ทุกภาคส่วน รวมถึงอุตสาหกรรมการบินมีความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และบรรเทาผลกระทบจากกฎระเบียบเกี่ยวกับการบินระหว่างประเทศที่มีความเข้มงวดมากขึ้น เนื่องจากการขนส่งทางอากาศมีการใช้เชื้อเพลิงสูง อีกทั้งเครื่องบินส่วนใหญ่ยังคงใช้เชื้อเพลิงอากาศยานจากฟอสซิลที่เมื่อเผาไหม้จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเป็นจำนวนมาก ทำให้อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกจำเป็นต้องเร่งดำเนินการ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างเป็นรูปธรรม
สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (InternationalAirTransportAssociation:IATA) และองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (InternationalCivilAviation Organization:ICAO) จึงได้กำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (NetZero) ภายในปี 2593 โดยมุ่งเน้นการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SustainableAviationFuel:SAF) เพื่อทดแทนเชื้อเพลิงอากาศยานจากฟอสซิล
โดยผลการศึกษาของ IATA ประเมินว่า SAF เป็นเชื้อเพลิงอากาศยานที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน
ไดออกไซด์ในอุตสาหกรรมการบินได้ถึง 65% เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย NetZero ภายในปี 2593 โดย IATA ตั้งเป้าหมายการใช้ SAF ให้ได้ 8,000 และ 23,000 ล้านลิตรต่อปี ภายในปี 2568 และปี 2573 ตามลำดับ และจะเพิ่มเป็น 449,000 ล้านลิตรต่อปี ภายในปี 2593
นอกจากนี้ SAF ยังเป็นเชื้อเพลิงอากาศยานที่ช่วยบรรเทาผลกระทบจากกฎระเบียบเกี่ยวกับการบินระหว่างประเทศที่มีความเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะโครงการชดเชยและการลดคาร์บอนสำหรับการบินระหว่างประเทศ (CarbonOffsettingandReductionSchemeforInternational Aviation:CORSIA) เนื่องจาก ICAO อนุญาตให้สายการบินสามารถใช้ SAF เพื่อลดค่าใช้จ่ายสำหรับชดเชยปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเที่ยวบินระหว่างประเทศ ทำให้ตลาด SAF ยังมีแนวโน้มเติบโตได้อีกมาก ซึ่งจะเป็นโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพของไทย เพื่อรองรับความต้องการใช้ SAF ทั่วโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
บทความนี้จึงจะนำทุกท่านไปทำความรู้จักกับ SAF ให้มากขึ้น รวมทั้งชี้ให้เห็นว่า ทำไมตลาด SAF จึงเป็นโอกาสที่น่าสนใจของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพของไทย และหากสายการบินของไทยหันมาใช้ SAF มากขึ้น จะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร
อุตสาหกรรมการบินปล่อย Emissions มากแค่ไหน
ในปี 2565 อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกือบ 800 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนราว 2% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก หรือราว 10% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคการขนส่ง ซึ่งมากเป็นอันดับ 3 ของภาคการขนส่ง รองจากการขนส่งทางถนนและทางเรือ อย่างไรก็ดี การขนส่งทางอากาศมีปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อระยะทางมากที่สุด เมื่อเทียบกับการขนส่งต่างๆ สะท้อนจากข้อมูลของ DepartmentforEnergySecurityandNetZero,UKGovernment ชี้ว่า การขนส่งทางอากาศภายในประเทศมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 246 กรัม CO2 ต่อกิโลเมตร ขณะที่รถยนต์ รถบัส และรถไฟมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราว 170,97 และ 35 กรัม CO2 ต่อกิโลเมตร ตามลำดับ[1]
นอกจากนี้ ในระยะยาว ความต้องการเดินทางของผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าทางอากาศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการเพิ่มขึ้นของรายได้ประชากร โดย IATA คาดว่า ในปี 2593 จำนวนผู้โดยสารทางอากาศทั่วโลกอาจสูงถึง 10,000 ล้านคน [2]ทำให้ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ของอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกอาจแตะระดับ 1,700 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นถึง 2.2 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2565[3]
ดังนั้น IATA และ ICAO จึงสนับสนุนให้มีการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ รวมถึงการลงทุนในเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อรักษาระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของอุตสาหกรรมการบินไม่ให้เกินระดับที่เคยปล่อยในปี 2562 ซึ่งหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้แก่ การใช้เชื้อเพลิง SAF เพื่อขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมการบินบรรลุเป้าหมาย NetZero ภายในปี 2593
ทำความรู้จักกับSAF
เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SustainableAviationFuel:SAF) เป็นเชื้อเพลิงอากาศยานที่ผลิตมาจากวัตถุดิบหมุนเวียน เช่น น้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้ว ไขมันสัตว์ กากน้ำตาล เป็นต้น ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของอุตสาหกรรมการบิน อีกทั้งสามารถนำ SAF ผสมกับเชื้อเพลิงอากาศยานจากฟอสซิลได้เลย โดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์หรือปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในการเติมเชื้อเพลิง
ทั้งนี้ เทคโนโลยีการผลิต SAF ที่ได้มาตรฐาน American Society for Testing Materials (ASTM) และได้รับการรับรองจาก ICAO แล้ว ประกอบด้วย 3 กลุ่มหลัก ดังนี้
1. Hydroprocessed Esters and FattyAcids (HEFA) เป็น SAF ที่ผลิตจากน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้ว น้ำมันพืช และไขมันสัตว์ โดยใช้กระบวนการเติมไฮโดรเจนในการแปรรูปน้ำมันและไขมันแล้วกลั่นให้เป็นเชื้อเพลิง
- Fischer-Tropsch(FT)เป็น SAF ที่ผลิตจากเศษวัสดุชีวมวล เช่น วัตถุดิบเหลือทิ้งทางการเกษตร เศษไม้ ขยะอินทรีย์ เป็นต้น โดยใช้กระบวนการแปลงสภาพชีวมวลเป็นก๊าซสังเคราะห์แล้วนำไปกลั่นเพื่อเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิง
3. Alcohol to Jet (ATJ) เป็น SAF ที่ผลิตจากพืชที่ให้แอลกอฮอล์ เช่น อ้อย กากน้ำตาล ข้าวโพด เป็นต้น โดยใช้กระบวนการหมักวัตถุดิบให้เป็นแอลกอฮอล์แล้วแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง
ซึ่งในปัจจุบัน เทคโนโลยีการผลิตดังกล่าวข้างต้นมีอัตราส่วนการผสม SAF กับเชื้อเพลิงอากาศยานจากฟอสซิลสูงสุดไม่เกิน 50% โดยเทคโนโลยีการผลิต SAF แบบ HEFA ถือเป็นทางเลือกที่มีความพร้อมด้านการใช้งานมากที่สุด เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาแล้ว อีกทั้งยังมีต้นทุนการผลิตอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีการผลิตอื่นๆ
ทำไม SAF จึงมีความน่าสนใจ
SAF ถือเป็นทางเลือกที่ยั่งยืนสำหรับอุตสาหกรรมการบินคาร์บอนต่ำ ซึ่งตอบโจทย์ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- ตอบโจทย์กระแสรักษ์สิ่งแวดล้อม
จากรายงานของ IATA และ ICAO ระบุว่า โดยเฉลี่ยแล้ว SAF สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตลอดอายุการใช้งานได้สูงถึงราว 80% เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงอากาศยานจากฟอสซิล[4] นอกจากนี้ ยังสามารถลดอนุภาคขนาดเล็กและกำมะถันได้ถึง 90% และ 100% ตามลำดับ เนื่องจาก SAF ผลิตมาจากวัตถุดิบหมุนเวียน เช่น น้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้ว กากน้ำตาล เป็นต้น ซึ่งวัตถุดิบหมุนเวียนที่ใช้ในการผลิตสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศได้ และช่วยลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล ทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิจากการใช้ SAF ลดลง
ซึ่งในปัจจุบัน พฤติกรรมของผู้โดยสารมีแนวโน้มที่จะเลือกสายการบินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ความต้องการใช้ SAF มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากผลสำรวจของ LiliumInternationalSurvey(2024) ชี้ว่า 65% ของผู้โดยสารต้องการการเดินทางทางอากาศที่ยั่งยืน และ 73% ของผู้โดยสารมีความกังวลเกี่ยวกับมลภาวะทางอากาศจากการบินแบบดั้งเดิม[5] ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจของ Ansys’SustainableAviationSurvey(2023) ชี้ว่า 65% ของผู้โดยสารยินดีที่จะจ่ายเงินมากขึ้น สำหรับการเดินทางทางอากาศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ 32% ของผู้โดยสารมีแนวโน้มที่จะเดินทางกับสายการบินที่มีความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และ 46% ของผู้โดยสารสนใจที่จะเดินทางด้วยเครื่องบินที่ใช้ SAF[6] สะท้อนถึงความต้องการพลังงานทางเลือกสำหรับอุตสาหกรรมการบินคาร์บอนต่ำที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการเติบโตของมูลค่าตลาด SAF ในอนาคต
- นโยบายสนับสนุนของภาครัฐ
ปัจจุบัน หลายประเทศทั่วโลกกำหนดนโยบายสนับสนุนการผลิตและการใช้ SAF เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการบินที่ยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเติบโตของตลาด SAFตัวอย่างเช่น รัฐบาลสหรัฐฯ ส่งเสริมการเพิ่มสัดส่วนของการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ รวมถึง SAF ผ่านนโยบาย RenewableFuelStandard(RFS) รวมทั้งยังมีนโยบาย SAFTaxCredit ซึ่งให้เครดิตภาษีกับผู้ผลิต SAF ในอัตรา 1.25 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อแกลลอน สำหรับ SAF ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวงจรชีวิตขั้นต่ำ 50% นอกจากนี้ ยังมีเครดิตภาษีเพิ่มเติมอีก 0.01 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อแกลลอน สำหรับทุกเปอร์เซ็นต์ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงเกิน 50% สูงสุด 0.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อแกลลอน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและกระตุ้นการลงทุนในเทคโนโลยีการผลิต SAF ของผู้ประกอบการ
ขณะที่สหภาพยุโรปออกกฎหมาย ReFuelEUAviation โดยกำหนดให้สายการบินของสหภาพยุโรปต้องเพิ่มสัดส่วนการผสม SAF อย่างน้อย 2% ของเชื้อเพลิงการบินทั้งหมด ในปี 2568 และจะเพิ่มเป็น 6% ในปี 2573 และ 70% ในปี 2593 นอกจากนี้ยังมี EUEmissionsTradingSystem(ETS) ที่จัดสรรงบประมาณ 1.6 พันล้านยูโร เพื่อลดส่วนต่างราคาระหว่าง SAF และเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งจะช่วยให้สายการบินสามารถเข้าถึง SAF ได้มากขึ้น
ด้านรัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดเป้าหมายให้สายการบินใช้ SAF ในสัดส่วน 10% ของเชื้อเพลิงการบินทั้งหมด ภายในปี 2573 ขณะที่รัฐบาลจีนกำหนดเป้าหมายในการผลิต SAF อย่างน้อย 10 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2573 รวมทั้งมีเป้าหมายให้สายการบินของจีนต้องเพิ่มสัดส่วนการผสม SAF อยู่ที่ 2% ของเชื้อเพลิงการบินทั้งหมด ภายในปี 2568 และเพิ่มขึ้นเป็น 15% ภายในปี 2573 สำหรับประเทศไทย สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (TheCivilAviation AuthorityofThailand:CAAT) อยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมออกกฎให้สายการบินที่ออกจากไทยต้องใช้ SAF ในสัดส่วน 1% ภายในปี 2569 และจะเพิ่มเป็น 3-5% ในปีถัดไป
นอกจากนี้ ยังมีโครงการรวมกลุ่มระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่การบินที่ยั่งยืน ซึ่งจะทำให้การผลิตและการใช้ SAF มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการ CleanSkiesforTomorrow (CST) ของ WorldEconomicForum ซึ่งเป็นโครงการรวมกลุ่มระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงผู้ผลิตเครื่องบิน สายการบิน สนามบิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนเงินทุนในการพัฒนาเทคโนโลยี SAF โดยกำหนดเป้าหมายการใช้ SAF ในสัดส่วน 10% ของเชื้อเพลิงการบินทั้งหมด ภายในปี 2573 ซึ่งมีสายการบินหลายแห่งทั่วโลกเข้าร่วมโครงการ CST เช่น สายการบิน AmericanAirlines, สายการบิน AirFrance, สายการบิน JapanAirlines เป็นต้น [7]ขณะที่สายการบิน SingaporeAirlines ประกาศแผนการใช้ SAF อยู่ที่ 5% ของเชื้อเพลิงการบินทั้งหมด ภายในปี 2573 ทำให้สายการบินหลายแห่งร่วมลงทุนกับบริษัทน้ำมันในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี SAF เพื่อผลิตและจัดหา SAF ให้มีปริมาณที่เพียงพอตามเป้าหมายของสายการบิน
ทั้งนี้ นโยบายภาครัฐและเป้าหมายการใช้ SAF ของสายการบินต่างๆ ที่มีความชัดเจนมากขึ้น จะเป็นโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพของไทย เนื่องจากไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่สำคัญของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ทำให้มีเที่ยวบินระหว่างประเทศเข้ามาเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ไทยมีโอกาสในการให้บริการ SAF แก่สายการบินที่มีเป้าหมายการใช้ SAF หรือเข้าร่วมโครงการ CORSIA รวมถึงสายการบินของไทยที่มีแผนการใช้ SAF มากขึ้นในอนาคต เช่น ThaiAirways และ BangkokAirways เป็นต้น ดังนั้น หากผู้ประกอบการไทยมีการพัฒนาและขยายกำลังการผลิต SAF มากขึ้น โดยอาศัยความเชี่ยวชาญ และความได้เปรียบด้านวัตถุดิบเหลือทิ้งทางการเกษตร อาจเป็นโอกาสที่ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต SAF ในภูมิภาคอาเซียน เพื่อรองรับปริมาณความต้องการ SAF ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
- การเพิ่มขึ้นของเม็ดเงินลงทุนใน SAF
เม็ดเงินลงทุนจาก VentureCapital ของกลุ่ม SAF เพิ่มขึ้นอย่างมาก จะเป็นปัจจัยเร่งต่อการเติบโตของตลาด SAF และจะทำให้ต้นทุนในการผลิต SAF มีแนวโน้มลดลง โดยข้อมูลจาก Dealroom พบว่า มูลค่าเงินลงทุนจากธุรกิจการร่วมลงทุน (VentureCapital) ในกลุ่ม Startup ที่เกี่ยวกับ SAF เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 มีมูลค่าเงินลงทุนสูงถึง 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีมูลค่าเพียง 27 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อีกทั้งบริษัทขนาดใหญ่ยังมีการร่วมลงทุนผ่านกองทุน SAF เช่น เมื่อเดือน ก.ค.2567 บริษัท Airbus ร่วมกับพันธมิตรในการจัดตั้งกองทุน SustainableAviationFuelFinancingAlliance(SAFFA) มูลค่ารวมกว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ[8]โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต SAF ซึ่งจะช่วยให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานที่ยั่งยืนของอุตสาหกรรมการบินเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ เม็ดเงินลงทุนในเชื้อเพลิง SAF ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จะทำให้ความสามารถในการผลิต SAF มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิต SAF มีแนวโน้มลดลงในอนาคต สะท้อนจากรายงานของ WorldEconomicForum และ McKinsey& Company ชี้ว่า ต้นทุนการผลิต SAF ด้วยน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้ว ด้วยเทคโนโลยีการผลิตแบบ HEFA จะมีต้นทุนการผลิตต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีการผลิตอื่นๆ โดยในปี 2563 ต้นทุนการผลิต SAF แบบ HEFA อยู่ที่ราว 1,375 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน และคาดว่าจะมีแนวโน้มลดลงเหลือเพียง 1,070 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ในปี 2593 หรือลดลง 22% จากในปี 2563[9] ทำให้ส่วนต่างราคาระหว่าง SAF และเชื้อเพลิงการบินจากฟอสซิลลดลง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้สายการบินมีแนวโน้มที่จะหันมาใช้เชื้อเพลิง SAF มากขึ้น
- มูลค่าตลาด SAF ยังเติบโตอีกมาก
แรงผลักดันจากนโยบายสนับสนุนการผลิตและการใช้ SAF ของภาครัฐ ประกอบกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการผลิต ทำให้ตลาด SAF ยังมีศักยภาพในการเติบโตได้อีกมาก โดยในปี 2566 อเมริกาเหนือครองส่วนแบ่งตลาด SAF มากที่สุดราว 48% รองลงมา ได้แก่ เอเชียแปซิฟิกและยุโรปครองส่วนแบ่งตลาดราว 30% และ 15% ตามลำดับ
ทั้งนี้ จากรายงานของ BISResearch(2023) คาดว่า ในปี 2576 มูลค่าตลาด SAF ของโลกจะสูงถึง 131.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 4.6 ล้านล้านบาท) จากในปี 2566 ที่มีมูลค่าเพียง 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 4.5 หมื่นล้านบาท) หรือมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงถึงปีละ 58.8%CAGR โดยปัจจัยสนับสนุนมาจากหลายประเทศทั่วโลกออกนโยบายส่งเสริมการผลิตและการใช้ SAF ในอุตสาหกรรมการบิน รวมถึงการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต SAF ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ตลาด SAF มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในอนาคต
โอกาสในการลงทุน SAF ของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพของไทยเป็นอย่างไร
สำหรับโอกาสในการลงทุน SAF ของประเทศไทยมีความชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากภาครัฐได้บรรจุ SAF เข้าไปใน (ร่าง) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2567-2580 (AEDP2024) เพื่อนับสนุนเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ โดยจะกำหนดสิทธิประโยชน์การลงทุนสำหรับการผลิต SAF เพื่อใช้ในประเทศและส่งออก รวมทั้งเตรียมออกมาตรการส่งเสริมการใช้ SAF โดยมีเป้าหมายสัดส่วนการผสม SAF อยู่ที่ 1% ในปี 2569 และจะเพิ่มเป็น 2% ในปี 2570-2572 โดยใช้เทคโนโลยี HEFA จากน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้วเป็นหลัก หลังจากนั้นจะใช้เทคโนโลยี HEFA ร่วมกับเทคโนโลยี ATJ จากกากน้ำตาลเป็นหลัก ซึ่งคาดว่าในปี 2579 เป็นต้นไป จะมีสัดส่วนการผสม SAF อยู่ที่ 8% หรือราว 1.9 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งจะเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพของไทย เพื่อรองรับความต้องการ SAF ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
สอดคล้องกับโครงการศึกษาแนวทางการส่งเสริมเชื้อเพลิงอากาศยานอย่างยั่งยืนของมหาวิทยาลัย
เกษตรศาสตร์ พบว่า เทคโนโลยี OiltoJet เช่น HEFA และเทคโนโลยี AlcoholtoJet เป็นเทคโนโลยีที่มีความเหมาะสมสำหรับประเทศไทย อย่างไรก็ดี เทคโนโลยี OiltoJet เป็นเทคโนโลยีที่มีความน่าสนใจมากที่สุด โดยมีปัจจัยหนุน ดังนี้
1) ไทยมีวัตถุดิบชีวมวลและน้ำมันที่เหลือจากการทำอาหารภายในประเทศเป็นจำนวนมาก
2) ไทยมีตัวอย่างการผลิตนำร่องด้วยการใช้เทคโนโลยีการกลั่นน้ำมันเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ เช่น ศูนย์วิจัยเชื้อเพลิงและพลังงานจากชีวมวลของคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น
ซึ่งปัจจุบัน เริ่มมีผู้ประกอบการไทยลงทุนผลิต SAF เช่น PTTGC กำลังปรับปรุงโรงกลั่นน้ำมันดิบเพื่อรองรับการผลิต SAF โดยจะผลิต 5 แสนลิตรต่อวัน ภายในเดือน ม.ค. 2568 และกลุ่มบริษัทบางจากกำลังก่อสร้างหน่วยผลิต SAF จากน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้ว โดยมีกำลังการผลิต 1 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มผลิตภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2568
ทั้งนี้ KrungthaiCOMPASS ประเมินว่า หากผู้ประกอบการไทยลงทุนผลิต SAF จากน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้ว กรณีกำลังการผลิต 10 ล้านลิตรต่อปี คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนราว 1,500 ล้านบาท และมีระยะเวลาคืนทุนราว 4-5 ปี โดยมีผลตอบแทนจากการลงทุนที่ 24.8%ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
สมมติฐาน: โรงงานผลิต SAF จากน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้ว โดยมีกำลังการผลิต 10 ล้านลิตรต่อปี
ด้านเงินทุน: เงินลงทุนในการก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์ของโรงงานผลิต SAF ราว 1,500 ล้านบาท อ้างอิงข้อมูลจาก SkyNRG
ด้านผลประโยชน์: ผู้ประกอบการจะมีรายได้จากการขาย SAF มากถึง 744 ล้านบาทต่อปี โดยมีต้นทุนวัตถุดิบน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้วและต้นทุนไฮโดรเจนราว 222 และ 68 ล้านบาทต่อปี รวมถึงค่าแรงงานและค่าไฟฟ้าราว 41 และ 11 ล้านบาทต่อปี ตามลำดับ และเมื่อหักค่าบำรุงรักษาที่คิดเป็น 2% ของเงินลงทุน หรือราว 30 ล้านบาทต่อปี จะทำให้ผลประโยชน์สุทธิของโรงงานผลิต SAF อยู่ที่ 372 ล้านบาทต่อปี
จากเป้าหมายการใช้ SAF ของภาครัฐ และการลงทุนของบริษัทผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพของไทยที่เพิ่มขึ้น ทำให้มูลค่าตลาด SAF ของไทยมีแนวโน้มเติบโต โดย KrungthaiCOMPASS ประเมินว่า ในปี 2580 มูลค่าตลาด SAF ของไทยจะอยู่ที่ราว 6.3 หมื่นล้านบาท จากในปี 2569 ที่คาดว่าจะมีมูลค่า 5.4 พันล้านบาท หรือมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงถึงปีละ 25%CAGRโดยมีวิธีประเมินดังนี้
1) ประเมินมูลค่าตลาด SAF ของไทยตามคาดการณ์ปริมาณการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานของประเทศไทย ซึ่งอ้างอิงจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน[10] และเป้าหมายสัดส่วนการใช้ SAF ของไทยตาม (ร่าง) OilPlan2024 ซึ่งอยู่ที่ 1% ของเชื้อเพลิงการบินทั้งหมด ในปี 2569 หรือราว 77 ล้านลิตรต่อปี และจะเพิ่มเป็น 2%,3%,5% และ 8% ในปี 2570-2572, ปี 2573-2575, ปี 2576-2578 และปี 2579-2580 ตามลำดับ
2) ราคาขาย SAF ในปี 2569 คาดว่าจะอยู่ที่ราว 70 บาทต่อลิตร และจะลดลงราว 1% ต่อปี ตามทิศทางต้นทุนการผลิต SAF ที่มีแนวโน้มลดลง
หากสายการบินของไทยหันมาใช้ SAFมากขึ้นจะช่วยลด Emissionsมากแค่ไหน
ในปี 2566 ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคการขนส่งทางอากาศของไทยอยู่ที่ราว 20 ล้านตัน และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยว ซึ่งหากสายการบินของไทยมีการเปลี่ยนมาใช้ SAF มากขึ้น จะมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคการขนส่งทางอากาศของประเทศ โดย KrungthaiCOMPASS ประเมินว่า หากภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกันในการสนับสนุนการใช้ SAF ตาม (ร่าง) OilPlan2024 ที่กำหนดเป้าหมายการใช้ SAF ในสัดส่วน 8% ในปี 2580 จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 2.3 ล้านตันต่อปี หรือราว 11% ของปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนได
ออกไซด์ในภาคการขนส่งทางอากาศของไทย ซึ่งเทียบเท่าการปลูกป่ามากถึง 188 ล้านต้นต่อปี คิดเป็นพื้นที่ป่า 1.9 ล้านไร่ หรือเกือบ 2 เท่าของพื้นที่กรุงเทพฯ
โดยประเมินปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดลงจากการใช้ SAF ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจาก CORSIADefaultLifeCycleEmissionsValues ของ ICAO ระบุว่า ค่าสัมประสิทธิ์ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กรณี SAF ที่ผลิตมาจากน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้วอยู่ที่ 13.9gCO2e/MJ ขณะที่ค่าสัมประสิทธิ์ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของเชื้อเพลิงอากาศยานจากฟอสซิลอยู่ที่ 89gCO2e/MJ โดยอัตรา FuelConversionFactor ของเชื้อเพลิงอากาศยานจากฟอสซิลอยู่ที่ 3.16kgCO2/kgfuel ซึ่งหากกำหนดให้ในปี 2580 สายการบินของไทยใช้ SAF ที่ผลิตจากน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้วในสัดส่วน 8% ของเชื้อเพลิงการบินทั้งหมด หรือราว 998 ล้านลิตรต่อปี หรือราว 848,232 ตันต่อปี จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 2.3 ล้านตันต่อปี ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2593
Implication:
KrungthaiCOMPASS มองว่า การผลักดันให้มีการผลิตและการใช้ SAF มากขึ้น จะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2593 อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้ SAF ยังมีความท้าทายและต้องอาศัยความร่วมมือกันทั้ง Ecosystem ดังนี้
- ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการบินของไทยควรวางแผนและให้ความสำคัญกับการใช้ SAF เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยร่วมมือกับผู้ประกอบการผลิต SAF ภายในประเทศ เพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่งและสนับสนุนการพัฒนาวัตถุดิบในการผลิต SAF นอกจากนี้ ควรผลักดันให้สายการบินกำหนดเป้าหมายการใช้ SAF ที่มีความชัดเจนมากขึ้น รวมถึงสร้างความตระหนักแก่ผู้โดยสารเกี่ยวกับความสำคัญของ SAF ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสายการบินและสนับสนุนการพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพที่ยั่งยืน
- ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพควรลงทุนในเทคโนโลยีการผลิต SAF รวมทั้งสร้างเครือข่ายในการจัดหาและการผลิต SAF ที่ยั่งยืน โดยผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพควรวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต SAF ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งอาจพิจารณาการผลิต SAF จากวัตถุดิบที่หลากหลาย เพื่อลดข้อจำกัดด้านวัตถุดิบภายในประเทศ นอกจากนี้ ควรร่วมมือกับเกษตรกร ภาคครัวเรือน รวมถึงผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมโรงแรม เพื่อรวบรวมน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้วและวัตถุดิบเหลือทิ้งทางการเกษตรอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการรวบรวมวัตถุดิบในการผลิต SAF รวมทั้งยังช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ
- ภาครัฐควรสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต SAF รวมทั้งออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนและการใช้ SAF อย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากในปัจจุบัน ต้นทุนการผลิต SAF สูงกว่าเชื้อเพลิงอากาศยานจากฟอสซิลถึง 3-4 เท่า ดังนั้น ภาครัฐควรมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต SAF ควบคู่ไปกับการออกมาตรการทางภาษีและมาตรการที่มิใช่ภาษี เช่น การให้เงินอุดหนุนการผลิต SAF มาตรการยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรสำหรับการผลิต SAF หรือมาตรการปรับลดอัตราภาษีสำหรับสายการบินที่เลือกใช้ SAF มากขึ้น เป็นต้น เพื่อให้ต้นทุนการผลิต SAF ลดลงมาอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้กับเชื้อเพลิงอากาศยานจากฟอสซิล ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้มีการผลิตและการใช้ SAF ภายในประเทศมากขึ้น