Debt deleveraging แบบใด เศรษฐกิจไทยจะไปต่อได้
“ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย” เป็นหนึ่งในปัญหาเศรษฐกิจที่พูดถึงกันมาก โดยเฉพาะตั้งแต่เกิดวิกฤต
COVID-19 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ
GDP ของไทยสูงขึ้นเร็วและติดอันดับต้น ๆ ของโลก อย่างไรก็ดี ข้อมูลล่าสุด
ณ ไตรมาส 2 ปี 2024 ชี้ว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ
GDP ลดลงต่อเนื่องจากสิ้นปี 2023 ที่
91.4% เหลือ 89.6% ต่ำสุดตั้งแต่เกิดวิกฤต COVID-19 จึงเริ่มมีคำถามว่า
สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่ทยอยปรับลดลง หรือเรียกว่ากระบวนการ
Debt deleveraging จะดำเนินต่อเนื่องได้หรือไม่ และสิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่า
ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยลดความกังวลขึ้นได้แล้วหรือยัง? SCB
EIC ต้องการตอบคำถามที่ว่านี้ โดยวิเคราะห์กระบวนการ Debt deleveraging
ของไทยในปัจจุบัน และเสนอแนวทางเพิ่มเติมเพื่อให้กระบวนการลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ
GDP เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนได้จริง
เศรษฐกิจไทยในวันที่
Debt
deleveraging ท้าทายกว่าเดิม
หากย้อนพิจารณาพลวัตหนี้ครัวเรือนไทยต่อ
GDP พบว่า กระบวนการ Debt deleveraging เคยเกิดขึ้นมาแล้วอย่างค่อยเป็นค่อยไปตั้งแต่ปี
2016 แต่มาสะดุดลงในช่วงวิกฤต COVID-19 ในช่วงนี้ครัวเรือนเข้าถึงสินเชื่อได้ตามปกติ ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนขยายตัวสอดคล้องกับเศรษฐกิจไทยที่เติบโตในอัตราปานกลาง
กระบวนการ Debt deleveraging ดำเนินมาต่อเนื่องได้อย่างช้า ๆ
ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ลดลงจาก ณ สิ้นปี
2015 ที่ 85.9% เหลือ 84.1% ในช่วงก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 แต่กระบวนการนี้ต้องหยุดชะงักลงจากการระบาด
COVID-19 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 95.5% ณ ไตรมาส 1
ปี 2021 (รูปที่ 1)
กระบวนการ Debt deleveraging เริ่มเกิดขึ้นใหม่หลังวิกฤตคลี่คลาย
สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ลดลงต่อเนื่องเหลือ 89.6%
ในไตรมาส 2 ปี 2024
อย่างไรก็ดี สาเหตุที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ลดลงจากไตรมาสแรก
กลับมาจากยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนที่ลดลงเป็นหลัก ขณะที่ Nominal GDP ยังขยายตัวต่ำ (รูปที่ 2) โดยในไตรมาส 2 ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนขยายตัวเพียง 1.3%YOY ต่ำสุดตั้งแต่เริ่มเผยแพร่ข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนที่รวมกลุ่มสถาบันการเงิน
และ Non-bank ในปี 2013
การขยายตัวของหนี้ครัวเรือนในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์อาจดูไม่น่ากังวล หากเกิดจากการทยอยชำระคืนหนี้เดิมที่สอดคล้องกับการฟื้นตัวของรายได้ อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์ฐานะทางการเงินของครัวเรือน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีหนี้และรายได้น้อย SCB EIC พบว่าภาคครัวเรือนยังมีความเปราะบางสูง โดยข้อมูลจากการสำรวจเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (SES) ในปี 2023 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ชี้ให้เห็นว่าครัวเรือนไทยที่มีหนี้กำลังเผชิญปัญหาการเงินที่รุนแรงขึ้น สาเหตุหลักมาจาก ครัวเรือนกลุ่มรายได้ต่ำมีรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย เพราะมีปัญหารายได้ลดลงชัดเจนเทียบกับปี 2021 ขณะที่ครัวเรือนกลุ่มรายได้ปานกลางเริ่มเผชิญปัญหารายได้ไม่เพียงพอรายจ่าย (รวมสำหรับรายจ่ายชำระหนี้) มากขึ้น
นอกจากข้อมูลสำรวจระดับภาคครัวเรือนข้างต้น หากดูข้อมูลฝั่งผู้ให้กู้ก็พบว่า
มาตรฐานการให้สินเชื่อครัวเรือนของธนาคารพาณิชย์เข้มงวดขึ้นและอาจเข้มงวดมากขึ้นอีกในระยะข้างหน้า
สะท้อนจากผลสำรวจภาวะและแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อ (Credit conditions survey) ของธนาคารแห่งประเทศไทย ตามคุณภาพสินเชื่อครัวเรือนที่ปรับลดลงต่อเนื่อง
ยิ่งแสดงถึงความท้าทายในการเข้าถึงสินเชื่อใหม่ (รูปที่ 4)
ภาพยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนต่อ Nominal GDP ลดลงที่เห็นจึงอาจเป็นผลจากการอนุมัติสินเชื่อใหม่ลดลงมากกว่าจะเป็นผลจากการชำระคืนหนี้เก่าได้มาก ดังนั้น กระบวนการ Debt deleveraging ที่เห็นในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 อาจกำลังสะท้อนว่า ความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อใหม่ของครัวเรือนแย่ลง แต่ไม่ได้สะท้อนว่าความสามารถชำระหนี้ของครัวเรือนปรับดีขึ้น
Debt deleveraging ของไทยเหมือนจะคืบหน้า
แต่อาจไม่ช่วยปลดล็อกครัวเรือนจากปัญหาหนี้
กระบวนการ Debt deleveraging ของไทยในปัจจุบัน อาจเรียกได้ว่ามีความคืบหน้าในเชิง
“ปริมาณ” กล่าวคือ ตัวเลขสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ
Nominal GDP ของไทยทยอยปรับลดลงได้แล้ว แต่หากพิจารณาถึงที่มาของการลดลงกลับพบว่า
มาจากหนี้ครัวเรือนที่ขยายตัวลดลงมาก กระบวนการที่เห็นนี้จึงอาจไม่ได้ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในท้ายที่สุด
เราสามารถแยกพิจารณากระบวนการ Debt deleveraging ได้ 2
กรณี ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมแตกต่างกันมาก (รูปที่ 5)
กรณี 1 รายได้ในระบบเศรษฐกิจโตมาก
หนี้เพิ่มขึ้นช้า หากเศรษฐกิจขยายตัวใกล้เคียงหรือเกินศักยภาพ รายได้ครัวเรือนจะฟื้นตัว
การปล่อยสินเชื่อครัวเรือนจะดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง
เพราะครัวเรือนมีแนวโน้มจะสามารถชำระหนี้ได้ในอนาคต
กลไกนี้จะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง โดยหนี้ครัวเรือนที่เติบโตได้บ้าง
จะช่วยประคับประคองการบริโภคและการลงทุนของภาคครัวเรือน
และทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมขยายตัวได้อย่างยั่งยืน กระบวนการ Debt deleveraging ในกรณีนี้จึงมีความสมดุล
ช่วยให้ครัวเรือนสามารถฟื้นฟูฐานะการเงินตนเองได้ และเอื้อให้เศรษฐกิจไปต่อได้อย่างยั่งยืน
กรณี 2 รายได้ในระบบเศรษฐกิจโตช้า หนี้ลดลงมาก สะท้อนการลดหนี้ได้ในภาวะเศรษฐกิจเติบโตชะลอตัว หากภาวะเศรษฐกิจซบเซายังดำเนินต่อไปจนทำให้รายได้ครัวเรือนฟื้นตัวช้าต่อเนื่อง สถาบันการเงินมีแนวโน้มจะยิ่งระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อใหม่ให้ภาคครัวเรือน เพราะครัวเรือนบางส่วนยังมีความเสี่ยงสูงที่จะไม่สามารถชำระหนี้ได้ ภาวะสินเชื่อหดตัวนี้จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังการบริโภคและการลงทุนในระบบเศรษฐกิจ และส่งผลลบต่อเศรษฐกิจโดยรวมในที่สุด ยิ่งทำให้รายได้ครัวเรือนฟื้นตัวลดลงอีก[1] กลไกนี้จะเกิดเป็นวัฏจักรขาลง การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนในอนาคตจะทำได้ยากขึ้นในกรณี 2 นี้
สถานการณ์ Debt deleveraging ของไทยในปัจจุบันเริ่มคล้ายกรณีที่
2 กระบวนการลดหนี้เกิดจากการลดลงของสินเชื่อมากกว่าการเติบโตของรายได้
เศรษฐกิจไทยอาจถูกแรงกดดันจากการปล่อยสินเชื่อที่ลดลง
และนำไปสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ยังทำให้การปรับโครงสร้างหนี้เก่าเป็นไปได้ยากขึ้น
เนื่องจากปัญหาความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนที่ไม่ได้มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างชัดเจน
กระบวนการ Debt deleveraging
ที่เกิดขึ้นจึงอาจไม่ได้สนับสนุนให้ภาคครัวเรือนมีความแข็งแกร่งได้มากขึ้นเท่าที่ควร
การสนับสนุนให้เกิด Debt deleveraging ที่ยั่งยืน
และเอื้อให้เศรษฐกิจไทยไปต่อได้แบบกรณีที่ 2 ต้องอาศัย 1)
นโยบายแก้ปัญหาหนี้เดิมในระดับครัวเรือน เพื่อลดหนี้ของแต่ละครัวเรือนโดยตรง ช่วยให้มั่นใจว่าแต่ละครัวเรือนมีสัดส่วนหนี้สินต่อรายได้ลดลง
ฐานะงบดุลของครัวเรือนปรับดีขึ้น และ 2) นโยบายเศรษฐกิจมหภาคประคับประคองรายได้ เพื่อให้ครัวเรือนมีรายได้ดีขึ้น และเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ ตัดวงจรไหลลงของวัฏจักรหนี้และรายได้ในระบบเศรษฐกิจ
นโยบายแก้ปัญหาหนี้เดิมในระดับครัวเรือน
ต้องครอบคลุมและตอบโจทย์
การลดภาระหนี้ระดับครัวเรือนจะช่วยให้ครัวเรือนมีฐานะการเงินมั่นคงขึ้น
เพิ่มกำลังซื้อ และสร้างโอกาสให้ครัวเรือนสามารถวางแผนการออมและการลงทุนระยะยาวได้ดีขึ้น
การออกแบบมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้เดิมของครัวเรือนควรคำนึงถึง 2 มิติหลัก ได้แก่ “ความครอบคลุม” (Width)
และ “ความลึก” (Depth)
มิติความครอบคลุม (Width) มาตรการแก้ไขปัญหาหนี้เดิมต้องออกแบบให้ช่วยเหลือครอบคลุมครัวเรือนทุกกลุ่มได้
รวมถึงครัวเรือนในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ หรือครัวเรือนที่ไม่มีประวัติเครดิตในระบบ มาตรการที่ครอบคลุม 3 ด้านนี้จะช่วยให้ครัวเรือนทุกระดับสามารถเข้าถึงการช่วยเหลือและคำแนะนำทางการเงินที่จำเป็น
1.
เงื่อนไขโครงการ : ปัจจุบันมีโครงการแก้หนี้ครัวเรือนหลายโครงการ
ซึ่งมีเงื่อนไขแตกต่างกัน อาทิ สถานะลูกหนี้เป็นหนี้เสียแล้วหรือไม่ มีปัญหาหนี้อยู่ในระดับใด
จึงต้องพิจารณาว่า ยังมีลูกหนี้กลุ่มใดที่ไม่เข้าข่ายได้รับการช่วยเหลือ เพื่อให้ลูกหนี้มีทางเลือกเข้าสู่กระบวนการลดหนี้ได้
โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน ทำงานนอกระบบ
และเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินในระบบ การจัดโครงการสนับสนุนพิเศษหรือโครงการรองรับลูกหนี้กลุ่มนี้จะช่วยให้ปัญหาหนี้ไม่ขยายวงมากขึ้น
2.
ประเภทเจ้าหนี้ : การแก้ไขปัญหาหนี้จะต้องครอบคลุมเจ้าหนี้หลากหลายประเภทให้สอดคล้องกับโครงสร้างหนี้ครัวเรือนไทย
ซึ่งไม่ได้มีแค่หนี้กับสถาบันการเงินเท่านั้น ควรขยายขอบเขตไปถึงเจ้าหนี้อื่น ๆ
โดยเฉพาะหนี้นอกระบบ การรวมเจ้าหนี้นอกระบบเข้ามาในระบบหรือจัดหาทางเลือกให้ผู้กู้หนี้นอกระบบเข้าถึงการปรับโครงสร้างหนี้ได้
จะช่วยลดภาระดอกเบี้ยสูงและลดโอกาสเกิดการทบหนี้ในอนาคต
3.
การรับรู้และการเข้าถึง
: ควรสร้างความรับรู้เกี่ยวกับโครงการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้เข้าถึงได้ง่าย
โดยใช้เครือข่ายทางสังคมและหน่วยงานท้องถิ่น การมีเครือข่ายช่วยดูแลความเป็นอยู่ทางการเงินให้คนในท้องถิ่น
จะช่วยให้ลูกหนี้มีความไว้เนื้อเชื่อใจที่จะปรึกษาปัญหาทางการเงิน และสามารถส่งต่อเข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือในส่วนกลางได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
มิติความลึก (Depth) การแก้ไขหนี้เดิมของครัวเรือนต้องตอบสนองความต้องการหลากหลายและความซับซ้อนของปัญหา
ครัวเรือนอาจมีภาระหนี้จากหลายแหล่ง แต่ละประเภทหนี้ต้องการแนวทางการแก้หนี้ที่แตกต่างกัน
การพัฒนาทางเลือกของนโยบายแก้หนี้ที่เจาะจงกลุ่มลูกหนี้หลากหลายจึงมีความสำคัญ พิจารณาได้
3 ด้าน คือ
1.
ความเสี่ยงของลูกหนี้ รายได้ครัวเรือนแต่ละกลุ่มมีแนวโน้มฟื้นตัวต่างกัน จึงควรมีกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสมกับลักษณะของการฟื้นตัวของรายได้ที่แตกต่างกัน
สำหรับครัวเรือนที่มีความเสี่ยงสูงและมีความสามารถชำระหนี้จำกัด ควรมีกลไกภาครัฐเข้ามาแบ่งรับความเสี่ยงเพิ่มเติมบางส่วน
เนื่องจากลูกหนี้เหล่านี้มีความเสี่ยงสูงเกินกว่าที่ภาคเอกชนจะสามารถแก้ปัญหาหนี้ให้ได้ในระยะยาว
2.
ความซับซ้อนของปัญหาหนี้ ครัวเรือนบางกลุ่มอาจมีเจ้าหนี้หลายราย หรือมีหนี้หลายประเภท ทั้งสินเชื่อบัตรเครดิต
สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อส่วนบุคคล หรือหนี้นอกระบบ
ปัญหาหนี้หลายประเภทต้องการการแก้ไขที่ครอบคลุมและยืดหยุ่นในการจัดการความซับซ้อนเฉพาะกรณี
นอกจากนี้ หากลูกหนี้มีหนี้กับเจ้าหนี้ภายใต้การกำกับดูแลต่างหน่วยงาน
หรือไม่มีการกำกับดูแล จะทำให้ข้อมูลหนี้หลายแหล่งของลูกหนี้ไม่เชื่อมโยงกัน
การช่วยเหลืออาจไม่ตรงเป้าหมาย จึงต้องบูรณาการผ่านการเชื่อมโยงข้อมูลที่ครอบคลุมมากขึ้น
3.
ความรู้ความเข้าใจทางการเงิน ลูกหนี้ที่มีความรู้ความเข้าใจด้านการเงินไม่มากต้องการความช่วยเหลือในการตัดสินใจเลือกข้อเสนอแก้หนี้จากเจ้าหนี้หลายราย
การมีผู้เชี่ยวชาญเป็นคนกลาง ให้คำปรึกษา และให้ความรู้ทางการเงินจะช่วยให้ลูกหนี้สามารถตัดสินใจแก้หนี้และมีความรู้ทางการเงินดีขึ้น
นโยบายเศรษฐกิจมหภาคช่วยประคับประคองให้ครัวเรือนมีรายได้และแก้หนี้เดิมได้
กระบวนการ Debt deleveraging แก้ปัญหาหนี้เดิมในระดับครัวเรือน จะต้องดำเนินการพร้อมนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ที่จะมาช่วยสนับสนุนให้ภาคครัวเรือนสามารถฟื้นฟูฐานะทางการเงิน (Balance sheet) ได้ ทั้งการสร้างสมดุลรายได้ รายจ่าย และภาระหนี้ ตลอดจนการบริหารกระแสเงินสดและการลงทุนทรัพย์สินอื่น ๆ (รูปที่ 6) เพื่อให้ครัวเรือนสามารถฟื้นตัวทางการเงินได้อย่างยั่งยืน
นโยบายเศรษฐกิจมหภาคจะมีบทบาทฟื้นฟูฐานะการเงินครัวเรือนผ่านหลายช่องทาง
โดยในรายงาน IMF กล่าวถึงหลักการในการปรับโครงสร้างหนี้ที่ดี[2] ไว้ว่า นโยบายเศรษฐกิจมหภาคต้องมุ่งรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจเป็นสำคัญเพื่อช่วยไม่ให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ซ้ำหลายครั้ง
การออกนโยบายแก้ไขหนี้เดิมเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ จำเป็นต้องอาศัยนโยบายเศรษฐกิจมหภาคเข้าช่วยประคับประคองเศรษฐกิจให้อยู่ในสภาวะพร้อมรองรับการปรับโครงสร้างหนี้
ซึ่งจะช่วยให้กระบวนการ Debt deleveraging เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ นโยบายเศรษฐกิจมหภาคยังมีความสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นว่า
ลูกหนี้จะสามารถกลับมาชำระหนี้ได้อีกครั้งในอนาคต ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในการปรับโครงสร้างหนี้เดิม
นโยบายเศรษฐกิจมหภาคของไทยสามารถสนับสนุนกระบวนการ Deleveraging ได้ดังนี้
นโยบายการคลังเจาะจงกลุ่มเปราะบาง
ภายใต้ข้อจำกัดทางการคลัง :
นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจมาตั้งแต่ COVID-19 จนเริ่มมีข้อจำกัดทางการคลัง ตั้งแต่ช่วงการระบาด นโยบายการคลังช่วยฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจมาโดยตลอด
ขนาดการขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP จึงสูงขึ้นมากและอาจเข้าใกล้เพดานหนี้ใหม่ 70% ในระยะปานกลาง
การขาดดุลการคลังสูงต่อเนื่อง อาจกระทบเสถียรภาพการคลัง และมีผลเสียต่อเสถียรภาพระบบการเงินตามมาได้
ในปัจจุบันนโยบายการคลังจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่มากเช่นเดิมแล้ว เพราะเริ่มเผชิญข้อจำกัดการคลังมากขึ้น
การใช้มาตรการจึงควรเน้นไปที่การช่วยเหลือครัวเรือนที่ประสบปัญหาทางการเงินหรือกลุ่มเปราะบางเป็นหลัก
โดยในระยะสั้น การสนับสนุนเงินอุดหนุนสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของครัวเรือนเหล่านี้
จะช่วยลดภาระรายจ่ายที่ครัวเรือนต้องแบกรับ
ซึ่งจะทำให้ครัวเรือนมีความสามารถในการจัดการหนี้ได้ดีขึ้น ในระยะยาว การสร้าง Social safety net ให้แก่ครัวเรือนเปราะบางอย่างเป็นระบบจะช่วยสนับสนุนกระบวนการการแก้ไขปัญหาหนี้ได้มาก
นโยบายการเงินที่เหมาะสม
จะช่วยสนับสนุน Debt deleveraging :
นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลงบ้าง จะไม่ได้กระตุ้นการก่อหนี้เหมือนในอดีต
หนึ่งในประเด็นสำคัญที่นโยบายการเงินไทยให้ความสำคัญคือระดับอัตราดอกเบี้ยที่เอื้อต่อกระบวนการ
Debt deleveraging โดยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำไปอาจกระตุ้นการก่อหนี้ครัวเรือน
ทำให้กระบวนการ Debt deleveraging ดำเนินไปได้ไม่ต่อเนื่อง
แม้ในช่วงก่อน COVID-19
อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยกระตุ้นให้ครัวเรือนก่อหนี้เพิ่มขึ้น
แต่การผ่อนคลายนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าท่ามกลางภาวะที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มซบเซา สถาบันการเงินระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ
จึงอาจไม่ได้กระตุ้นการก่อหนี้ครัวเรือนดังเช่นในภาวะที่เศรษฐกิจร้อนแรง[3] เห็นได้จากแนวโน้มหนี้ครัวเรือนที่เริ่มโตต่ำกว่าช่วงก่อน COVID-19 และโตต่ำกว่า Trend
มาระยะหนึ่งแล้ว (รูปที่ 7)
ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรฐานการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินที่เข้มงวดขึ้นกว่าอดีตมาก
นอกจากนี้
ผลศึกษาในต่างประเทศพบว่า ในสภาวะที่หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ครัวเรือนจะมุ่งเป้าไปที่การพยายามชำระหนี้เก่าของตนเองให้ลดลงมามากกว่าที่จะกู้หนี้เพิ่มเติม
ไม่ว่าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ก็ตาม[4] ดังนั้น
การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้เพื่อบรรเทาภาระหนี้ของครัวเรือน
และประคับประคองเศรษฐกิจในภาพรวมให้เติบโตได้
จึงไม่ได้กระตุ้นการก่อหนี้ซึ่งจะเป็นการฉุดรั้งกระบวนการ Debt deleveraging
ในทางกลับกัน หากนโยบายการเงินตึงตัวเกินไป อาจทำให้กระบวนการลดหนี้ในระดับครัวเรือนทำได้น้อยลง ผลการศึกษาที่แบ่งเศรษฐกิจออกเป็นช่วง Leveraging (การเพิ่มหนี้) และ Deleveraging (การลดหนี้) ยังพบว่า หากนโยบายการเงินตึงตัวในช่วง Deleveraging และเศรษฐกิจมีหนี้สูงจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวมากกว่าและใช้เวลานานกว่าจะฟื้นตัวเมื่อเทียบกับนโยบายตึงตัวในช่วง Leveraging ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตดีและการบริโภคยังคงขยายตัวได้[5] การใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดในช่วง Deleveraging ยิ่งกดดันให้การลดภาระหนี้ครัวเรือนชะลอตัวลง และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมอย่างยืดเยื้อทำให้การฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือนล่าช้า ครัวเรือนหลายครัวเรือนอาจประสบปัญหาทางการเงินมากขึ้น ก่อให้เกิดแรงกดดันการบริโภคและการชำระหนี้ตามมา
นโยบายการเงินไทยในปัจจุบันอาจตึงตัวเกินระดับเป็นกลางต่อเศรษฐกิจได้ หากมองว่าศักยภาพเศรษฐกิจไทยต่ำลงมาก เนื่องจากศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวได้ปรับลดลงอย่างชัดเจน จากการประเมินของ SCB EIC ในปี 2024 พบว่าศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันปรับตัวลดลงเหลือประมาณ 2.7% จากเดิมที่เคยอยู่ที่ 3.4% ในช่วงก่อนวิกฤต COVID-19 อัตราดอกเบี้ยที่เป็นกลาง (Neutral rate) ที่สอดคล้องกับศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจ และระดับเงินเฟ้อในระยะยาว จึงมีแนวโน้มที่จะปรับลดลงตามศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจ การคงไว้ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับสูงกว่าในอดีต ขณะที่ศักยภาพเศรษฐกิจลดลง (รูปที่ 8) จึงทำให้นโยบายการเงินมีความเสี่ยงสูงที่จะสูญเสียสถานะของความเป็นกลาง (Neutral stance : ไม่กระตุ้นหรือชะลอเศรษฐกิจ) และเข้าสู่สถานะตึงตัว (Tight monetary policy) ในกรณีนี้ การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงเป็นการลดความเสี่ยงที่นโยบายการเงินจะเข้าสู่สถานะตึงตัว
ดังนั้น การชั่งน้ำหนักในการดำเนินนโยบายการเงินจึงควรให้ความสำคัญกับการลดความเสี่ยงที่รายได้ครัวเรือนจะไม่ฟื้นตัวในอนาคต การดำเนินนโยบายการเงินผ่านมุมมองการจัดการความเสี่ยง (Risk management) ของกระบวนการ Debt deleveraging
จึงต้องชั่งน้ำหนักความเสี่ยง 2 ประการที่จะทำให้กระบวนการดังกล่าวอาจสะดุดลง
(รูปที่ 9) ได้แก่
(1)
ความเสี่ยงจากการก่อหนี้ใหม่จนทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ
GDP ปรับสูงขึ้น
นำไปสู่ปัญหาหนี้ครัวเรือนเรื้อรังในระยะยาว
(2) ความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจนทำให้ GDP เติบโตไม่เร็วพอที่จะทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ลดลง ส่งผลให้การแก้ปัญหาหนี้ในปัจจุบันยิ่งท้าทายมากขึ้น
เมื่อพิจารณาถึงบริบทของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันตามที่กล่าวไป
จะเห็นได้ว่าความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจมีมากกว่าความเสี่ยงจากการก่อหนี้ใหม่อยู่มาก
การดำเนินนโยบายการเงินอย่างเหมาะสมจึงควรให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือนในอนาคตผ่านการประคับประคองเศรษฐกิจไทยให้ผ่านช่วงความเสี่ยงสูง
การประคับประคองเศรษฐกิจไทยนี้จะเป็นตัวช่วยที่สำคัญในการสนับสนุนกระบวนการ Debt deleveraging ของภาคครัวเรือน
โดยเมื่อครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้นและมั่นคงขึ้น
ความสามารถในการชำระหนี้และลดภาระหนี้ก็จะเพิ่มขึ้นตามไป ซึ่งจะช่วยให้กระบวนการลดหนี้เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืนและลดแรงกดดันต่อเศรษฐกิจโดยรวม
ในท้ายที่สุด กระบวนการ Debt deleveraging ที่จะตอบโจทย์ครัวเรือนและทำให้เศรษฐกิจไทยไปต่อได้อย่างแท้จริงนั้น
ต้องมองให้กว้างไปกว่าการลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP หรือการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับครัวเรือน
แต่ต้องให้ความสำคัญถึงกระบวนการแก้ไขปัญหาหนี้ที่ครอบคลุมและตอบสนองความต้องการของครัวเรือนได้
นอกจากนี้ นโยบายเศรษฐกิจมหภาคก็มีส่วนสำคัญที่จะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจให้รายได้ครัวเรือนฟื้นตัว
เพราะการฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือนที่ยั่งยืนจะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาหนี้ที่อยู่คู่กับเศรษฐกิจไทยมานานประสบความสำเร็จได้อย่างแท้จริงในท้ายที่สุด
บทวิเคราะห์โดย... https://www.scbeic.com/th/detail/product/debt-deleveraging-211124
[1] เป็นวงจรที่มีความใกล้เคียงกับแนวคิดตัวเร่งทางการเงิน
(Financial
accelerator) ตามการศึกษาของ Bernanke, B. S.,
Gertler, M., & Gilchrist, S. (1999). The Financial Accelerator in a
Quantitative Business Cycle Framework. โดยในบริบทของประเทศไทยซึ่งครัวเรือนจำนวนมากเป็นหนี้ที่ไม่ใช้สินทรัพย์ค้ำประกัน
อาจมองมูลค่าของสินทรัพย์ค้ำประกันดังกล่าวเป็นคาดการณ์รายได้ครัวเรือนในอนาคตแทนการคาดการณ์ว่ารายได้ครัวเรือนในระยะข้างหน้าไม่ฟื้นตัวอาจเทียบเท่าผลของการที่มูลค่าของสินทรัพย์ลดลง
[2] Laeven,
L., & Laryea, T. (2009). Principles of Household Debt Restructuring (IMF
Staff Position Note No. SPN/09/15). International Monetary Fund.
[3] สรา ชื่นโชคสันต์
& สุพริศร์ สุวรรณิก (2017) การ deleverage
ของหนี้ภาคครัวเรือนไทย และนัยต่อเศรษฐกิจ (FOCUSED AND
QUICK (FAQ) Issue No. 123). ธนาคารแห่งประเทศไทย
[4]
Mian,
A., Rao, K., & Sufi, A. (2013). Household balance sheets, consumption, and
the economic slump. The Quarterly Journal of Economics, 128(4), 1687–1726.
[5] Harding, M., & Klein, M.
(2019). Monetary
Policy and Household Deleveraging: Evidence and Implications. Journal of
Macroeconomics, 65, 123–135.