กรุงศรีคาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 34.10-34.80 ติดตามเงินเฟ้อสหรัฐฯ
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 34.10-34.80 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 34.61 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 34.48-34.86 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเงินยูโรร่วงลงแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 2 ปี ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของยูโรโซนปรับตัวย่ำแย่สวนทางกับฝั่งสหรัฐฯ ทางด้านเงินเยนและฟรังก์สวิสซึ่งถือเป็นแหล่งพักเงินที่ปลอดภัยแข็งค่าขึ้นช่วงสั้นๆ หลังรัฐบาลรัสเซียประกาศลดเงื่อนไขในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ อย่างไรก็ตาม รมว.ต่างประเทศรัสเซียระบุในเวลาถัดมาว่ารัสเซียจะทำทุกสิ่งที่ทำได้เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามนิวเคลียร์ ทั้งนี้ ยูเครนได้ใช้ขีปนาวุธ ATACMS ของสหรัฐฯโจมตีดินแดนรัสเซียเป็นครั้งแรก ขณะที่สงครามดำเนินมายาวนานกว่า 1 พันวันแล้ว ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นไทย 1,025 ล้านบาท แต่มียอดขายพันธบัตรสุทธิ 1,962 ล้านบาท
สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 34.10-34.80 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่สินทรัพย์เสี่ยงตอบรับเชิงบวกต่อการเลือกรมว.คลังสหรัฐฯของทรัมป์ นักลงทุนจะติดตามตัวเลขเงินเฟ้อ PCE พื้นฐานเดือนต.ค.ของสหรัฐฯซึ่งคาดว่าอาจเร่งตัวขึ้นเป็นเดือนที่สองติดต่อกัน นอกจากนี้ การเปิดเผยรายงานการประชุมรอบล่าสุดของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)อาจสะท้อนแนวคิดเบื้องต้นของเฟดเกี่ยวกับผลกระทบเชิงนโยบายที่อาจเกิดขึ้นจากผลการเลือกตั้งปธน. อนึ่ง เราประเมินว่าทิศทางการเติบโตที่อ่อนแอของเศรษฐกิจนอกสหรัฐฯซึ่งกระตุ้นให้เกิดการคาดการณ์ที่แตกต่างกันต่อเส้นทางนโยบายระหว่างเฟดและธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี), ความเสี่ยงด้านการคลังของฝรั่งเศส รวมถึงความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้นในระยะสั้นก่อนที่อาจจะคลายตัวลงเมื่อทรัมป์เข้ารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ในช่วงต้นปี 68 อาจช่วยจำกัดแรงขายเงินดอลลาร์ก่อนที่ธุรกรรมจะเบาบางลงในช่วงเทศกาลขอบคุณพระเจ้าปลายสัปดาห์นี้
สำหรับปัจจัยในประเทศตลาดจะให้ความสนใจกับข้อมูลดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนต.ค. ขณะที่จีดีพีไตรมาส 3/67 ออกมาดีเกินคาด โดยขยายตัว 3.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี ท่ามกลางแรงหนุนจากการลงทุนภาครัฐที่เร่งตัวขึ้น การท่องเที่ยวและการส่งออกที่เติบโตต่อเนื่อง สภาพัฒน์คาดว่าเศรษฐกิจปี 67 จะเติบโต 2.6% และได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ยอดส่งออกเป็นขยายตัว 3.8% ขณะที่ในปี 68 ความเสี่ยงต่างๆจะมีมากขึ้น