“เศรษฐกิจและสังคม” ดันความเชื่อมั่นชายแดนใต้ปรับเพิ่ม
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ และ พ.ต.ท. วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เปิดเผยว่า ดัชนี ความเชื่อมั่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไตรมาส 3 ปี 2567 โดยรวมอยู่ที่ระดับ 56.29 ปรับเพิ่มจากไตรมาสก่อนหน้า ที่ระดับ 55.56 จากการปรับเพิ่มของความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจมาอยู่ที่ระดับ 56.81 จาก 56.17 และด้านสังคมมาอยู่ ที่ระดับ 53.28 จาก 53.05 ขณะที่ด้านความมั่นคงปรับลดมาอยู่ที่ระดับ 56.49 จาก 57.46 แต่ยังอยู่ในช่วงเชื่อมั่นทุกด้านสาเหตุคาดว่ามาจากภาพรวมของเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวของนักท่องเที่ยวที่เดินทางข้ามพรมแดนซึ่งตรงกับวันหยุดยาวของประเทศมาเลเซีย ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐทั่วประเทศ รวมทั้ง เป็นช่วงฤดูกาลผลไม้ออกสู่ตลาดและราคาพืชเศรษฐกิจสำคัญปรับตัวเพิ่มขึ้น จึงส่งผลดีต่อรายได้ของเกษตรกรในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ภาระค่าครองชีพสูง และปัญหาด้านความมั่นคงยังเป็นปัจจัยทอนต่อความเชื่อมั่น ของชายแดนภาคใต้ที่จะต้องเฝ้าระวังต่อไป
หากพิจารณาเป็นรายจังหวัด พบว่า ประชาชนในจังหวัดสตูลมีความเชื่อมั่นโดยรวมสูงสุด อยู่ที่ระดับ 61.14 เนื่องจากความเชื่อมั่นด้านความมั่นคงอยู่ในระดับสูงกว่าจังหวัดอื่น ๆ อย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจและสังคมอยู่ในระดับใกล้เคียงกับจังหวัดอื่น ๆ สำหรับจังหวัดที่มีความเชื่อมั่นโดยรวมรองลงมาได้แก่ จังหวัดสงขลา (ระดับ 58.21) ยะลา (ระดับ 55.03) ปัตตานี (ระดับ 55.00) และนราธิวาส (ระดับ 54.92) ตามลำดับ
ผลสำรวจปัญหาโดยรวมของจังหวัดชายแดนใต้ส่วนใหญ่อยู่ที่ระดับเดิมเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ยกเว้นปัญหายาเสพติดปรับตัวเป็นปัญหาเพิ่มมากขึ้น โดยประเด็นที่ประชาชนมีความกังวลมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ปัญหาภาระค่าครองชีพสูง รายได้ไม่เพียงพอ (ทุกจังหวัด) และปัญหายาเสพติด (โดยเฉพาะจังหวัดสตูล และนราธิวาส) ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจความต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐให้ช่วยเข้ามาแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าวด้วยเช่นเดียวกัน
ผอ.สนค. กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการผ่านหลายโครงการเพื่อกระตุ้นและส่งเสริมเศรษฐกิจของพื้นที่ชายแดนใต้ซึ่งการจัดทำเครื่องชี้วัดความเชื่อมั่นของประชานในพื้นที่เป็นประจำทุกไตรมาสจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดทิศทางของนโยบายที่จะใช้แก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้อย่างตรงจุดและเหมาะสม รวมทั้งสามารถใช้ติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวเพิ่มเติมว่า ศอ.บต. พร้อมสนับสนุนทุกภาคส่วนร่วมดำเนินการสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้ได้มากที่สุด เพื่อรองรับคนที่ตกงานทั้งในพื้นที่และคนที่เดินทางกลับถิ่นฐาน รวมทั้ง ศอ.บต. ให้ความสำคัญกับปัญหาสินค้าเกษตร เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าร้านอาหารหรือกิจการโรงแรม/ที่พักต่างๆ จะมีผู้ใช้บริการแต่ยังมีจำนวนไม่มากพอที่จะส่งผลให้เกิดความต้องการผลผลิตสินค้าเกษตรจนทำให้ราคาเพิ่มขึ้นในระดับที่คาดหวังได้ จึงได้มีความพยายามแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งได้ประสานกับกระทรวงพาณิชย์ร่วมกันหาตลาดรองรับสินค้า เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรด้วย
สำหรับในปี 2567 ศอ.บต. ยังคงมุ่งเน้นการพัฒนาความเป็นอยู่ การเพิ่มรายได้และคุณภาพชีวิตการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจน ซึ่งการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่น และการสอบถามปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ตรงกับความต้องการของประชาชนให้ตรงจุดและต่อยอดมากยิ่งขึ้น ให้เกิดเป็น กิจกรมพัฒนาได้อย่างเป็นรูปธรรม