Mycoprotein ยกระดับอุตสาหกรรมอาหารไทย เกาะเทรนด์ Upcycling
Key Highlights
= ในแต่ละปี Food Loss and Food Waste ของโลกมีสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของปริมาณอาหารที่ผลิตได้ ซึ่งก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 4.5 พันล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 6-10% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลก ขณะที่การนำ Food loss มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด หรือที่เรียกว่า Upcycling Foods กำลังเป็นเทรนด์ที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลก โดยหนึ่งในแนวทางนั้น คือ การผลิตโปรตีนทางเลือกจาก Mycoprotein
= การต่อยอดไปสู่ Mycoprotein จะช่วยให้ผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้าผลิตและแปรรูปอาหารและเครื่องดื่มมีอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นเป็น 26% จากเดิมที่อยู่ที่ราว 7% นอกจากนี้ หากไทยนำ Food Loss and Food Waste ที่ตั้งเป้าหมายจะลดในแต่ละปี และเป็นสัดส่วนที่ไทยมีศักยภาพในการนำมา Recycle ได้ซึ่งอยู่ที่ราว 5% ของปริมาณFood Loss and Food Waste ที่เกิดขึ้นทั้งหมดในแต่ละปีมาใช้ในการผลิต Mycoprotein ทั้งหมด จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 1.2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 5.2% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจาก food Loss and Food Waste ของไทย ซึ่งอยู่ที่ 23.1 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
= Krungthai COMPASS แนะนำ ผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าสู่ตลาดนี้ต้องมีการสร้างการรับรู้ทางด้านคุณประโยชน์ และสร้างความเชื่อมั่นของสินค้านี้ให้แก่ผู้บริโภครวมทั้งต้องพัฒนาระบบการจัดการ Food Loss and Food Waste เพื่อให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในในผลิต Mycoprotein ได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ภาครัฐจำเป็นต้องมีบทบาทสำคัญในการวิจัย พัฒนา และส่งเสริมการลงทุนในการผลิตอุตสาหกรรมนี้
การสูญเสียอาหารและขยะจากอาหาร (Food Loss and Food Waste) ถือว่าเป็นปัญหาที่สำคัญของโลก โดยในแต่ละปี Food Loss and Food Waste ของโลกมีสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของปริมาณอาหารที่ผลิตในโลก ซึ่งก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 4.5 พันล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 6-10% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของโลก ทำให้องค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งหลายประเทศทั่วโลกต่างตระหนักและเห็นความสำคัญของปัญหานี้ จึงพยายามหาแนวทางในการแก้ไข
ดังจะเห็นได้จากการที่องค์การสหประชาชาติ (United Nations) ได้มีการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในการลด Food Loss and Food Waste ของโลก โดยพยายามลด Food Loss and Food Waste ในห่วงโซ่อุปทานอาหารให้เหลือเพียง 50% ภายในปี 2573 ขณะที่การนำ Food Loss and Food Waste มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด หรือที่เรียกว่า Upcycling Foods ซึ่งเป็นเทรนด์ที่กำลังได้รับความสนใจจากทั่วโลก โดยหนึ่งในแนวทางที่นั้น คือ การผลิตโปรตีนทางเลือกจากการหมักจุลินทรีย์ (Mycoprotein) ดังนั้น ในบทความนี้ Krungthai COMPASS จึงนำเสนอเรื่อง Mycoprotein ซึ่งเป็นหนึ่งทางเลือกในเทรนด์ Upcycling Foods ที่น่าสนใจที่จะช่วยผู้ประกอบการรับมือกับความท้าทายจาก Food Loss and Food Waste ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ
Mycoprotein คืออะไร?
Mycoprotein เป็นโปรตีนทางเลือกที่ผลิตจากเชื้อรา โดยทั่วไปใช้เชื้อรา Fusarium venenatum[1] ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ในกลุ่มเชื้อราชนิดหนึ่งที่สามารถรับประทานได้ และให้เส้นใยโปรตีนที่มีปริมาณโปรตีนสูงและมีกรดอะมิโนที่จำเป็น โดย Mycoprotein สามารถปรุงแต่งให้เข้ากับอาหารหลายประเภท และเนื้อสัมผัสคล้ายเนื้อสัตว์ จึงได้รับความนิยมในอุตสาหกรรมอาหารโปรตีนทางเลือก (Alternative Protein) ทั่วโลก โดยในกระบวนการผลิต Mycoprotein จะเริ่มจากการนำ Fusarium venenatum มาเพาะเลี้ยงในถังหรือเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพโดยควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น และปริมาณออกซิเจน ซึ่งภายในจะบรรจุอาหารที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์ เช่น ผัก ผลไม้ เศษผักและผลไม้ เป็นต้น เมื่อการหมักบ่มจนได้ที่ จะนำมาผ่านความร้อน เพื่อช่วยกระตุ้นการสร้างเอนไซน์ หลังจากนั้นจะนำเอนไซน์ที่ได้มาปั่นและเหวี่ยง เพื่อให้ได้เส้นใยตามที่ต้องการ เมื่อได้เส้นใยตามที่ต้องการจะนำมาแต่งรสชาติในถังผสม โดยการเติมโปรตีนลงไป ต่อมาก็จะนำมานึ่งและปล่อยให้เย็น แล้วนำมาขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ตามที่ต้องการ เช่น ไส้กรอก เบอร์เกอร์ เป็นต้น และนำแช่แข็งอีกครั้ง เพื่อให้เส้นใยเกาะกันจนเกิดเป็นเนื้อสัมผัสคล้ายเนื้อสัตว์ที่ตามที่ผู้ประกอบการต้องการ
Business Modelของการผลิตผลิตภัณฑ์ Mycoprotein เป็นอย่างไร?
Business Model ของผลิตภัณฑ์ Mycoprotein ประเมินว่า มี 2 แบบหลัก ได้แก่ 1) การใช้ Food Loss and Food Waste ที่เหลือจากการผลิตภายในโรงงานมาผลิตเป็น Mycoprotein 2) การซื้อวัตถุดิบและเศษอาหารจากภายนอก เช่น ซื้อจากเกษตรกร ฟาร์ม หรือโรงงานผลิตและแปรรูปอาหารและเครื่องดื่ม มาผลิตเป็น Mycoprotein สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่ได้มีแหล่งวัตถุดิบเป็นของตนเอง โดยแบบแรกจะเริ่มต้นจากการที่ผู้ประกอบการผลิตและแปรรูปอาหารและเครื่องดื่มนำ Food Loss and Food Waste ภายในโรงงานมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต Myprotein หลังจากนั้นจะนำ Mycoprotein ไปจำหน่ายให้แก่ร้านค้าส่ง Modern trade หรือผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค หรือจำหน่ายให้ร้านอาหารเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารให้แก่ผู้บริโภคต่อไป ดังจะเห็นได้จากบริษัท วุฒิชัย กรุ๊ป ได้ร่วมมือกับบริษัท ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม และสวทช. ในการนำกากน้ำตาลที่เหลือจากการผลิตน้ำตาลมาเป็นวัตถุดิบในการผลิต Mycoprotein ส่วนแบบที่ 2 จะเริ่มจากผู้ประกอบการผลิตและแปรรูป Mycoprotein ซื้อวัตถุดิบและเศษอาหารจากภายนอกโรงงาน เช่น ซื้อจากเกษตรกร ฟาร์ม หรือโรงงานผลิตและแปรรูปอาหารและเครื่องดื่ม มาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต Mycoprotein ตัวอย่างเช่น บริษัท Kynda ซึ่งเป็นบริษัท Star-Up สัญชาติเยอรมัน ได้รับซื้อกากโอการะจากโรงงานผลิตนมถั่วเหลืองมาเป็นวัตถุดิบในผลิต Mycoprotein
ทำไม Mycoprotein เป็น Upcycling Foods ที่น่าสนใจ
1. เป็นสินค้าตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม
Mycoprotein ถือว่าเป็นสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เห็นได้จากกระบวนการผลิต Mycoprotein ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการผลิตเนื้อสัตว์ประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรน้ำที่ใช้เพียง 7.2 แกลอนต่อการผลิต Mycoprotein น้ำหนัก 1 กก. หรือพื้นที่ในการเลี้ยงที่ใช้เพียง 0.5 ตร.ม. ต่อน้ำหนักการผลิต Mycoprotein 1 กก. รวมทั้งยังปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 10.0 CO2 ต่อน้ำหนักสินค้า 1 กก.ซึ่งต่ำว่าเนื้อสัตว์ประเภทอื่น โดยเฉพาะในกลุ่ม Traditional Protein ที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงกว่า Mycoprotein ถึง 3-8 เท่า
2. พฤติกรรมผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะบริโภค Mycoproetin เพิ่มขึ้น
ผู้บริโภคทั่วโลกสนใจในการบริโภค Mycoprotein เพิ่มมากขึ้น โดยจากรายงาน Harper Adams University (2565) 31.6% ของผู้บริโภคทั่วโลกเต็มใจที่จะบริโภคและจ่ายเงินเพื่อซื้อ Mycoprotein ในระดับราคาสูง จากการที่โปรตีนชนิดนี้มีสารอาหารที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น แคลเซียม วิตามิน B12 ไฟเบอร์ เป็นต้น รวมทั้งยังช่วยในการป้องกันการเกิดโรค และยังเป็นสินค้ายั่งยืนและรักษ์โลกอีกด้วย ซึ่งสอดคล้องกับการสำรวจของ McKinsey & Company (2567) ที่พบว่า 49% ของผู้บริโภคชาวสหรัฐฯ นิยมบริโภคสินค้าชนิดนี้แทนอาหารและขนมที่ทำมาจากเนื้อสัตว์ เนื่องจากมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย อีกทั้ง ยังมีกระบวนการผลิตที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับการผลิตเนื้อสัตว์ประเภทอื่น
ซึ่งสอดคล้องของการสำรวจของ Indian Council of Agricultural Research (ICAR) (2022) ที่พบว่า 68%ของผู้บริโภคชาวอินเดียมีแนวโน้มที่จะบริโภคโปรตีนชนิดนี้เพิ่มขึ้น เนื่องจากโปรตีนชนิดนี้มีปริมาณโปรตีนสูงเมื่อเทียบกับราคาที่ผู้บริโภคจ่ายไป อีกทั้ง ยังมีสารอาหารที่ช่วยในเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายและยังช่วยฟื้นฟูสุขภาพจากโรคภัยต่างๆ และการสำรวจของ German Institute of Food Technology (2022) 56% ของผู้บริโภคชาวยุโรปรับรู้ถึงคุณประโยชน์ทางด้านสารอาหารและสิ่งแวดล้อมของโปรตีนชนิดนี้และพร้อมที่จะหันมาบริโภคโปรตีนชนิดนี้เพิ่มขึ้น แม้ว่าผู้บริโภคจะยัง
ไม่คุ้นชินกับโปรตีนชนิดนี้
3. ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีอาหารและนวัตกรรมในการผลิต Mycroprotein
ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี (Foodtech) ในการผลิต Mycoprotein ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด จะช่วยให้อุตสาหกรรมนี้มีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างรวดเร็ว จากการที่ต้นทุนในการผลิตมีแนวโน้มลดลง อีกทั้งยังทำให้รูปแบบผลิตภัณฑ์มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งจะสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีรูปแบบการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน โดยจากข้อมูลของ Dealroom ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ให้บริการข้อมูลและข่าวสารระดับโลกเกี่ยวกับ Start up พบว่ามูลค่าเงินลงทุนจากธุรกิจการร่วมลงทุน (Venture Capital) ใน Startup ของกลุ่มที่เกี่ยวกับ Mycoprotein เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในปี 2566 มีมูลค่าเงินลงทุนสูงถึงราว 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเท่ากับ 7.1 พันล้านบาท จากในปี 2562 ที่เท่ากับ 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราวกับ 3.6 พันล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 19.0%CAGR ในช่วงปี 2562-2566
นอกจากนี้ ในปี 2567 ได้มีกองทุนต่างๆทั่วโลกสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมนี้เพิ่มมากขึ้น อย่างกองทุน World Fund ซึ่งเป็นกองทุนด้านเทคโนโลยีด้านสภาพอากาศของยุโรป และ CPT Capital ซึ่งเป็นบริษัทร่วมลงทุนทางด้านแหล่งโปรตีนทางเลือกได้เข้ามาลงทุนในบริษัท ENOUGH ซึ่งเป็นบริษัท Start-up ในสหราชอาณาจักร ที่ทำการผลิต Mycroprotein เป็นจำนวนเงิน 43.6 ล้านปอนด์ หรือ 1.9 พันล้านบาท เพื่อขยายขนาดของโรงงานผลิต Mycoprotein
4. เป็นอุตสาหกรรมที่ภาครัฐสนับสนุน
ปัจจุบันรัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลกต่างได้มีนโยบายที่จะทำการวิจัย พัฒนา และส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยี Mycroprotein เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยเป็นแรงผลักดันให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการออกนโยบายต่างๆ รวมทั้งมีการร่วมมือระหว่างประเทศในด้านการค้นคว้า วิจัยและพัฒนา ในอุตสาหกรรมนี้ เพื่อที่จะสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในประเทศเข้ามาในอุตสาหกรรมนี้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมนี้ ดังจะเห็นได้จากรัฐบาลเยอรมันได้ให้เงินอุดหนุนแก่บริษัท Kynda ซึ่งเป็นผู้ผลิต Mycoproetein ของเยอรมัน เป็นจำนวนเงินถึง 4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 142.0 ล้านบาท ในการพัฒนาการผลิต Mycoprotein นอกจากนี้ รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ลงทุนในการสร้าง Microbial Food Hub ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทางด้าน Mycoprotein โดยเป็นจำนวนเงินถึง 12 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 536.1 ล้านบาท เป็นต้น
มูลค่าตลาด Mycroprotein โลกใหญ่แค่ไหน?
BIS Research คาดว่า มูลค่าตลาด Mycoprotein ของโลก ในปี 2573 จะมีมูลค่าเท่ากับ 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 8.9 หมื่นล้านบาท) จากเดิมในปี 2566 ที่มีมูลค่าประมาณ 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 4.6 หมื่นล้านบาท) โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปี 9.7%CAGR โดยเฉพาะในตลาดจีน ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดถึง 37% ของมูลค่าตลาดโลกทั้งหมด
ผู้ประกอบการกลุ่มไหนที่มีโอกาสในการยกระดับสู่ตลาด Mycoprotein?
Krungthai COMPASS มองว่า ผู้ประกอบการที่มีโอกาสในการยกระดับเข้าสู่อุตสาหกรรม Mycoprotein ได้แก่
1. ผู้ประกอบการผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตร หรือผู้ประกอบการผลิตและแปรรูปอาหารและเครื่องดื่ม ได้แก่ โรงงานแปรรูปผักและผลไม้ โรงงานผลิตน้ำตาล โรงงานผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น ผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีศักยภาพในต่อยอดการผลิต Mycoprotein จากการที่ผู้ประกอบกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบในการผลิตได้ง่าย รวมทั้งยังสามารถวัตถุดิบที่เหลือจากการผลิตและแปรรูปอาหารและเครื่องนำมาใช้ในการผลิต Mycoprotein ซึ่งจะช่วยลดของเสียภายในอุตสาหกรรม (Zero waste) นอกจากนี้ ยังมีความพร้อมทางด้านการผลิต จากมีอุปกรณ์ เครื่องจักรและโรงงานที่พร้อมใช้ในการผลิต Mycroprotein โดยผู้ประกอบการกลุ่มนี้อาจร่วมมือกับบริษัท Start-Upทางด้าน Food Tech หรือสถาบัน
วิจัยในการผลิต Mycoprotein ดังจะเห็นได้จากบริษัท วุฒิชัยกรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหาร ได้ร่วมมือกับบริษัทไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของไทย รวมทั้งสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในผลิตเบอร์เกอร์ Mycoprotein ยี่ห้อ Abosolute Plant
2. ผู้ประกอบการ Food Tech จากการที่ผู้ประกอบการมีองค์ประกอบทางความรู้เกี่ยวกับวิจัย ผลิต และพัฒนา Mycoprotein ดังนั้น ผู้ประกอบการกลุ่มนี้อาจร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตสินค้าเกษตร หรือบริษัทผลิตอาหารและแปรรูปอาหารและเครื่องดื่มที่ต้องการเข้าสู่อุตสาหกรรม Mycoprotein นอกจากนี้ อาจขอรับความช่วยเหลือทางด้านเงินทุนจากสถาบันการเงินของรัฐ หรือหน่วยงานรัฐ เช่น บริษัท Enough ซึ่งเป็นบริษัท Start-Up ทางด้าน Food tech สัญชาติสหราชอาณาจักร ได้ร่วมมือกับบริษัท Unilever ได้และบริษัท Cargrill ในการผลิต Mycoprotein ภายใต้ยี่ห้อ ABUNDA
โอกาสจากการนำ Food Loss and Food Waste มาใช้ในการผลิต Mycoprotein
โอกาสที่ 1 สร้างโอกาสในสร้างกำไรให้ผู้ประกอบการผลิตและแปรรูปอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น
Krungthai COMPASS ประเมินว่า การต่อยอดไปสู่ Mycoprotein จะช่วยให้ผู้ประกอบการผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตรหรือผู้ประกอบการผลิตและแปรรูปอาหารและเครื่องดื่มมีกำไรที่ดีขึ้น โดยหากผู้ประกอบการผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตร หรือผู้ประกอบการผลิตและแปรรูปอาหารและเครื่องดื่ม อย่างผู้ประกอบการผลิตน้ำมันถั่วเหลืองซึ่งมี Food Loss and Food Waste ที่เหลือจากการกระบวนการผลิต เช่น กากถั่วเหลืองที่สามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต Mycoprotein มีอัตรากำไรขั้นต้น เพิ่มขึ้นเป็น 26%
ซึ่งสอดคล้องกับอัตรากำไรขั้นต้นของบริษัท enough และบริษัท maia-farms ซึ่งมีการนำ Food Loss and Food Waste มาใช้ในการผลิต โดยในปี 2566 พบว่ามีอัตรากำไรขั้นต้นประมาณ 142% และ 65% ตามลำดับ เป็นต้น ซึ่งมากกว่าอัตรากำไรขึ้นต้นเฉลี่ยของธุรกิจผลิตน้ำมันถั่วเหลืองที่มีอัตรากำไรขั้นต้นราว 7% เนื่องจากรายได้หลักจากการธุรกิจดั้งเดิมจะเน้นการนำ By Product อย่างกากถั่วเหลืองไปขายโดยให้ผู้ประกอบอาหารสัตว์ และแม้ว่าต้นทุนในการผลิต Mycoprotein จะสูง แต่ผลิตภัณฑ์ Mycoprotein ก็มีราคาขายที่สูงตามไปด้วย จากการที่เป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เพราะเป็นสินค้าที่ดีต่อสุขภาพ เนื่องจากอุดมไปด้วยวิตามินและกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อสุขภาพ และยังเป็นสินค้าที่รักษ์โลก ส่งผลให้มีอัตรากำไรที่ดี อีกทั้งพบว่าผู้ประกอบการที่ใช้วัตถุดิบ Food Loss และ Food Waste ภายในโรงงานจะมีมีอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงกว่าผู้ประกอบการผลิตที่ซื้อวัตถุดิบจากภายนอกโรงงานถึงราว 12%
โอกาสที่ 2 ช่วยในการลด Food Loss and Food Waste และการปล่อยก๊าซรือนกระจกของไทย
ปัจจุบันในแต่ละปีไทยมี Food Loss and Foods waste ถึงประมาณ 18 ล้านตัน ซึ่งก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 23 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่าต่อปี โดยส่วนใหญ่เกิดจากการเก็บรักษาที่ไม่เหมาะสมหรือกระบวนการผลิตที่ไม่ได้คุณภาพ ดังจะเห็นได้จากข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และบทความ AI ยกระดับธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มตอบโจทย์ Sustainability ของ Krungthai COMPASS (2567) ทำให้รัฐบาลเล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหานี้จึงได้บรรจุเรื่องปัญหานี้ไว้ในแผนขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน พ.ศ. 2560-2579 โดยมีการตั้งเป้าหมายที่จะลด Food Loss and Food Waste ให้ได้ 5.0% ต่อปี ซึ่ง Mycoprotein ถือว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งที่อุตสาหกรรมอาหารสามารถนำมาใช้ เพื่อที่จะช่วยในการลด Food Loss and Food Waste
ดังนั้น หากไทยนำ Food Loss and Food Waste ที่ได้ตามเป้าหมายข้างต้น คือ ปีละ 9 แสนตัน คาดว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้ถึง 1.2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า คิดเป็น 5.2% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจาก Food Loss and Food Waste ของไทยแต่ละปี โดยการคำนวณที่ Food Loss and Food Waste ที่ลดได้จากการนำมาผลิตเป็น Mycoprotein จะคำนวณมาจาก Food Loss and Food Waste ของไทยที่เกิดขึ้นในแต่ละปี ซึ่งอยู่ที่ 18 ล้านตัน ซึ่งอ้างอิงมาจากบทความ AI ยกระดับธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มตอบโจทย์ Sustainability ของ Krungthai COMPASS (2567) และกำหนดให้ปริมาณ Food Loss and Food Waste ที่ลดได้ในแต่ละปีจะนำมาใช้ในการผลิต Mycoprotein ทั้งหมด ซึ่งปริมาณ Food Loss and Food Waste ที่ลดได้ในแต่ละปีจะอ้างอิงจาก
เป้าหมายที่จะลด Food Loss and Food Wasteราว 5% ต่อปี ตามแผนขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน พ.ศ. 2560-2579 ซึ่งจากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า เป็นสัดส่วน Food Loss and Food Waste ที่มีศักยภาพที่จะนำมาใช้ Recycle ได้ ขณะที่สมติฐานในการคำนวณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้จาการนำ Food Loss and Food Waste มาผลิตเป็น Mycoprotein คำนวณจาก Food Loss and Food Waste ที่นำมาผลิตเป็น Mycoprotein มาคูณกับสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ Food Loss and Food Waste 1 ตัน จะอ้างอิงข้อมูลมาจากบทความ AI ยกระดับธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มตอบโจทย์ Sustainability ของ Krungthai COMPASS (2567) ซึ่งพบว่า Food Loss and Food Waste 1 ตันจะปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1.3 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
Recommendation
Krungthai COMPASS มองว่า อุตสาหกรรม Mycoprotein จะเป็นโอกาสในการการนำ Food Loss and Food Waste มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงช่วยตอบโจทย์แนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมผลิตและแปรรูปอาหารและเครื่องดื่ม ดังนั้นเพื่อที่จะอุตสาหกรรมนี้สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ Krungthai COMPASS แนะนำผู้ที่ส่วนเกี่ยวข้อง ดังนี้
ผู้ประกอบการ
· สร้างการรับรู้ทางด้านคุณประโยชน์ให้แก่ผู้บริโภค และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค โดยปัจจุบันผู้บริโภคบางส่วนยังมีความรู้เกี่ยวกับสินค้าชนิดนี้ไม่มากและยังกังวลเกี่ยวกับปลอดภัยในการบริโภคสินค้าชนิดนี้ ดังจะเห็นได้จากข้อมูลของ Center for Science in the Public Interest (CSPI) มีผู้บริโภคบางส่วนมีอาการแพ้ จากการรับประทานโปรตีนชนิดนี้ ดังนั้น เพื่อที่จะให้ผู้บริโภคคลายความกังวล และหันมาบริโภคสินค้ากลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้น จำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค โดยอาจขอรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานที่เป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ ปัจจุบันหน่วยงานรัฐในหลายประเทศได้มีการรับรองเกี่ยวกับความปลอดภัยในการรับประทานโปรตีนชนิดนี้ เช่น เป็น Food and Drug Administration (FDA) หรือ หน่วยงานด้านความปลอดภัยของสหภาพยุโรปได้มีการรับรองสินค้านี้ นอกจากนี้ผู้ประกอบการอาจรวมตัวกันในการจัดตั้งองค์กรในการวิจัยและพัฒนาสินค้า และรับรองสินค้าประเภทนี้ โดยปัจจุบันผู้ประกอบการผลิต Mycoprotein ในต่างประเทศได้มีรวมตัวในการจัดตั้ง The Fungi Protein Association (FPA) ซึ่งจะทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาสินค้า รวมทั้งยังสร้างการรับรู้เกี่ยวกับโปรตีนชนิดนี้ให้แก่ผู้บริโภค
· มีการพัฒนาระบบในการจัดการ Food Loss and Food Waste โดยที่ผ่านมาแม้มีผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพหลายรายสามารถใช้ Food Loss and Food Waste ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่หากพิจารณาในภาพรวมของประเทศพบว่าไทยยังต้องพัฒนาในด้านนี้ ดังจะเห็นได้จากข้อมูลของกรมมลพิษ (2560) ที่ชี้ว่า Food Loss and Food Waste ของไทยสามารถนำกลับมาใช้ใหม่เพียง 5% เนื่องจากไทยยังไม่มีการแยก Food Loss and Food Waste ออกจากขยะอื่น หรือมีการแยก Food Loss and Food Waste แต่ยังไม่ถูกประเภท ขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ขณะที่สหภาพยุโรป สามารถนำ Food Loss and Food Waste กลับมาใช้ได้ใหม่ถึง 40% หรือในเกาหลีใต้ที่มีระบบการแยก Food Loss and Food Waste แต่ละประเภทออกจากกัน เช่นมีการแยกขยะพวกอาหารที่แข็ง เช่น กระดูกไก่ หรือเปลือกหอย ออกจาก Food Loss and Food Waste ปกติ ทำให้เกาหลีใต้สามารถนำ Food Loss and Food Waste จำนวนมากไปผลิตสินค้าจนได้เป็นอาหารเสริมสำหรับสัตว์ และยังช่วยลดความเสียหายของเครื่องจักรในผลิตได้อีกด้วย
ภาครัฐ
· มีบทบาทสำคัญในการวิจัย พัฒนา และส่งเสริมการลงทุนในการผลิตอุตสาหกรรมนี้ ทั้งมาตรการทางภาษีและที่มิใช่ภาษี เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการสนใจที่จะหันมาผลิตสินค้าชนิดนี้เพิ่มขึ้น เช่น ในปี 2566 รัฐบาลอิสราเอลได้มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยเกี่ยวกับ Mycoprotein ที่มหาวิทยาลัยฮีบรู เพื่อจะทำหน้าที่ในการฝึกอบรบและพัฒนานักวิจัย เพื่อสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีองค์ความรู้ในการผลิตสินค้าชนิดนี้ หรือรัฐบาลรัสเซียได้มีการกำหนดให้ Mycoprotein ถือว่าเป็นสินค้าเกษตรประเภทหนึ่ง เพื่อที่ช่วยให้ผู้ผลิต Mycoprotein จ่ายภาษีนิติบุคคลให้แก่รัฐบาลเพียง 6% จากเดิมที่ต้องจ่ายภาษีนิติบุคคลให้แก่รัฐบาลถึง 12% หรือหน่วยงานด้านนวัตกรรมของสวีเดนและออสเตรียร่วมมือภายโปรแกรม Eurostars เพื่อร่วมกันพัฒนาเครื่องพิมพ์ 3 มิติซึ่งต้นแบบในการผลิต Mycoprotein