แชร์

สหรัฐฯ และยูโรโซนยังมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจอาจชะลอตัวมากกว่าคาด ส่วนจีนประเมินมาตรการกระตุ้นรอบใหม่ช่วยประคองเศรษฐกิจท่ามกลางความเสี่ยงจากสงครามการค้า

อัพเดทล่าสุด: 14 ม.ค. 2025
70 ผู้เข้าชม

แม้ตัวเลขเศรษฐกิจและการจ้างงานยังแข็งแกร่ง แต่สหรัฐฯ ยังมีความเสี่ยงขาลงจากผลของดอกเบี้ยที่สูงและความไม่แน่นอนจากนโยบายทรัมป์ ในเดือนธันวาคม การจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นจาก 212,000 ตำแหน่ง ในเดือนพฤศจิกายน สู่ 256,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานปรับลดลงจาก 4.2% สู่ระดับ 4.1% สอดคล้องกับตัวเลขเปิดรับสมัครงานที่ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 8.09 ล้านตำแหน่ง มากสุดในรอบ 5 เดือน สะท้อนภาพรวมตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่ง ขณะที่ดัชนี ISM ภาคบริการขยับเพิ่มขึ้นมากกว่าคาดจาก 52.1 มาอยู่ที่ 54.1 อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงจาก 74 ในเดือนธันวาคม สู่ระดับ 73.2 ในเดือนมกราคม

แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งและหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีแนวโน้มคงดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไปวันที่ 28-29 มกราคม แต่ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจกำลังเพิ่มขึ้น สะท้อนจาก (i) ยอดการรีไฟแนนซ์หนี้ของภาคธุรกิจที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น (ii) ยอดการยื่นล้มละลายในปี 2567 มากที่สุดในรอบ 14 ปี และ (iii) อัตราการผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อรถยนต์มากที่สุดในรอบ 10 ปี ซึ่งบ่งชี้ว่าผลจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงอาจกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนที่ชัดเจนมากขึ้นในระยะข้างหน้า นอกเหนือจากผลกระทบของการกีดกันทางการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นภายใต้การนำของทรัมป์ ด้วยเหตุนี้ วิจัย
กรุงศรีประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ จะปรับลดลงอีก 0.75% สู่ระดับ 3.50-3.75% ณ สิ้นปี 2568 สอดคล้องกับความเสี่ยงขาลงที่เพิ่มขึ้น

เศรษฐกิจยูโรโซนยังเผชิญความท้าทายจากต้นทุนพลังงานที่สูง รวมถึงความเสี่ยงทางการเมืองในเยอรมนีและฝรั่งเศส ในเดือนธันวาคม ดัชนี PMI ภาคบริการกลับมาขยายตัวโดยเพิ่มขึ้นจากในเดือนพฤศจิกายน 49.5 สู่ระดับ 51.6 อย่างไรก็ตาม ดัชนี PMI ภาคการผลิตยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 อยู่ที่ 45.1 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปขยับเพิ่มขึ้นจาก 2.2% สู่ระดับ 2.4% YoY ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวที่ 2.4% สะท้อนถึงแรงกดดันเงินเฟ้อที่ขยับขึ้น นอกจากนี้ ยูเครนประกาศยุติสัญญาการส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียไปยังยุโรปซึ่งหมดอายุลงเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา

เศรษฐกิจยูโรโซนยังคงเผชิญความเสี่ยงหลายประการที่อาจกระทบต่อการฟื้นตัวในปี 2568 อาทิ ภาคการผลิตที่หดตัวต่อเนื่อง ความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่อยู่ในระดับต่ำ ความขัดแย้งทางการค้าและภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงความเสี่ยงทางการเมืองในเยอรมนีและฝรั่งเศส ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันกว่า 41% ของ GDP ทั้งหมดของสหภาพยุโรป แม้ว่ายุโรปจะมีปริมาณสำรองก๊าซสูงกว่า 90% แต่การพึ่งพาแหล่งพลังงานที่ไม่ใช่รัสเซียจะส่งผลให้ต้นทุนพลังงานในประเทศสูงขึ้นและอาจลดทอนความสามารถทางการแข่งขันของยุโรป โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น ยานยนต์ และเคมีภัณฑ์ ทั้งนี้ จากภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังอ่อนแอภายใต้ความเสี่ยงขาลงที่เพิ่มขึ้น วิจัยกรุงศรีประเมินว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแนวโน้มลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 1.00% สู่ระดับ 2.00% ภายในปี 2568 เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงแรง

มาตรการกระตุ้นรอบใหม่มีแนวโน้มช่วยพยุงเศรษฐกิจจีน ขณะที่จีนยังคงเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยเสี่ยงทั้งภายในและภายนอก ทางการและภาคเอกชน (Caixin) รายงาน PMI ภาคการผลิตขยายตัวชะลอลงในเดือนธันวาคม ขณะที่ดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ขยายตัวต่อเนื่องส่วน PMI นอกภาคการผลิตขยายตัวเร่งขึ้น ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนธันวาคมยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องที่ 0.1% YoY ซึ่งต่ำสุดในรอบ 9 เดือน ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตดีขึ้นเล็กน้อยจาก -2.5% เป็น -2.3% สำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์ ยอดขายบ้านใหม่ของผู้พัฒนาอสังหาฯ 100 อันดับแรกเริ่มทรงตัวที่ 0% YoY ในเดือนธันวาคมจาก -6.9% ในเดือนพฤศจิกายน

จีนยังคงเผชิญปัญหาอุปทานส่วนเกินและการบริโภคที่ซบเซา อย่างไรก็ตาม มาตรกระตุ้นของรัฐบาลช่วยบรรเทาปัญหาและประคับประคองเศรษฐกิจจีนได้บางส่วน โดยเฉพาะมาตรการอุดหนุนการแลกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและยานยนต์ สำหรับในปี 2568 นี้ รัฐบาลมีแผนขยายมาตรการดังกล่าวให้ครอบคลุมสินค้ากลุ่มอื่นเพิ่มเติม เช่น สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัว ยานยนต์พลังงานทดแทน และเครื่องปรับอากาศ นอกจากนี้ ธนาคารกลางยังประกาศให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ภาคธุรกิจเพื่อปรับเปลี่ยนอุปกรณ์และเครื่องจักรใหม่ มาตรการเหล่านี้คาดว่าจะทำให้การบริโภคและการลงทุนในช่วงครึ่งปีแรกปรับตัวดีขึ้น รวมถึงบรรเทาผลกระทบเชิงลบจากสงครามการค้าที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นในปี 2568

เศรษฐกิจไทย

การบริโภคได้ผลบวกเพียงระยะสั้นๆ จากมาตรการเงินโอน ขณะที่การลงทุนเผชิญความท้าทายมากขึ้นในการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ

เครื่องชี้เศรษฐกิจในเดือนพฤศจิกายนสะท้อนแรงส่งการใช้จ่ายในประเทศมีแนวโน้มแผ่วลง ธปท. รายงานเศรษฐกิจเดือนพฤศจิกายนชะลอลง โดยการบริโภคภาคเอกชนลดลง (-0.4% MoM sa) หลังจากที่เร่งไปในเดือนก่อนจากมาตรการเงินโอนภาครัฐ โดยเฉพาะการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนที่ปรับลดลงมาก เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนที่กลับมาหดตัว (-1.8%) ตามการลดลงของการลงทุนทั้งทางด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ และด้านก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม ภารส่งออกที่หักทองคำและปัจจัยทางฤดูกาลขยายตัว (+3.0%) จากการส่งออกที่เติบโตในหมวดยานยนต์และสินค้าเกษตรแปรรูปเป็นสำคัญ ขณะที่ภาคท่องเที่ยวแม้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นจากอินเดีย ญี่ปุ่น และจีน แต่รายรับรวมจากภาคท่องเที่ยวไม่สดใสส่วนหนึ่งเป็นผลจากจำนวนนักท่องเที่ยวรัสเซียที่ค่าใช้จ่ายต่อทริปสูงปรับลดลง

การใช้จ่ายในประเทศในช่วงปลายปีที่ผ่านมาแผ่วลงอย่างชัดเจนสะท้อนถึงการทยอยหมดลงของผลบวกจากมาตรการการโอนเงิน 10,000 บาทแก่กลุ่มเปราะบางราว 14 ล้านคน ซึ่งได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน 2567 เป็นต้นไป สำหรับในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ทางการออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในโครงการ Easy-E-Receipt (ใช้จ่ายสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย) เริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 16 มกราคม ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ และมาตรการโอนเงิน 10,000 บาทแก่กลุ่มผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนขอรับสิทธิ์จากแอพพลิเคชั่นทางรัฐ (ประมาณ 4 ล้านคน) ตั้งเป้าโอนเงินให้ในช่วงปลายเดือนมกราคมนี้ มาตรการดังกล่าวคาดว่าจะเป็นปัจจัยบวกระยะสั้นๆ ต่อการบริโภคภาคเอกชน ท่ามกลางความเชื่อมั่นที่ยังฟื้นตัวช้า และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ในปี 2568 วิจัยกรุงศรีคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มที่จะเติบโตชะลอลงเหลือ 3% จากปีก่อนที่ขยายตัวได้ราว 4.8%

การลงทุนยังเผชิญกับความเชื่อมั่นที่ฟื้นตัวช้า และความท้าทายจาก Global Minimum Tax ที่มีผลบังคับใช้เมื่อต้นปี ธปท.รายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนธันวาคมกลับมาปรับตัวลดลงสู่ 48.4 จาก 49.3 ในเดือนพฤศจิกายน และยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 (หดตัว) ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 ส่วนใหญ่เป็นผลจากความเชื่อมั่นในภาคการผลิตที่ปรับลดลงและอยู่ในแดนหดตัวตั้งแต่กลางปี 2567 ขณะที่ความเชื่อมั่นในภาคที่มิใช่การผลิตปรับดีขึ้นมาอยู่เหนือระดับ 50 ปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวเป็นสำคัญ

จากข้อมูลความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่ยังต่ำกว่าระดับ 50 เป็นเวลานาน บ่งชี้ถึงความไม่มั่นใจของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในภาคการผลิตที่ประสบกับปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น การลดลงของขีดความสามารถในการแข่งขัน การลงทุนภาคเอกชนในปีที่ผ่านมาจึงมีภาพรวมไม่สดใส สำหรับในปีนี้วิจัยกรุงศรีประเมินการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มที่จะกลับมาขยายตัวได้ราว 2.9% แรงหนุนจาก (i) การเร่งลงทุนของภาครัฐ สะท้อนจากการจัดทำงบประมาณรายจ่ายลงทุนในปีงบฯ 2568 ขยายตัวสูงถึง 26.5% เมื่อเทียบกับปีงบฯ ก่อน ซึ่งจะช่วยเหนี่ยวนำให้การลงทุนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับโครงการภาครัฐปรับดีขึ้น (ii) ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2567 มูลค่าเงินลงทุนกว่า 7.2 แสนล้านบาท สูงสุดในรอบ 10 ปี และ (iii) ล่าสุดข้อมูลจาก EEC เผยว่าในปีนี้จะมีนักลงทุน 12 ราย มูลค่าเงินลงทุนกว่า 1.5 แสนล้านบาท เตรียมจะเข้ามาลงทุน โดยส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับดาต้าเซนเตอร์ และเซมิคอนดัคเตอร์ อย่างไรก็ตาม เมื่อต้นปี 2568 ทางการไทยประกาศใช้ภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก (Global Minimum Tax: GMT) อัตรา 15% ซึ่งจะเรียกเก็บจากนิติบุคคลข้ามชาติ (Multinational Enterprises: MNEs) ขนาดใหญ่ที่มีรายได้ไม่น้อยกว่า 750 ล้านยูโร สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป ประเด็นดังกล่าวอาจมีผลต่อการทบทวนและตัดสินใจในการลงทุนในไทย ซึ่งนับเป็นความท้าทายสำหรับประเทศที่เคยใช้นโยบายภาษีในระดับต่ำเพื่อเป็นแรงจูงใจและดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ


บทความที่เกี่ยวข้อง
กรุงเทพประกันชีวิต จัดงาน Bangkok Life Agency Kick Off 2025  ปลุกพลังตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงินครั้งใหญ่ รับศักราชใหม่ปี 2568
บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) โดย นายโชน โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นายจักรพงศ์ แสงแก้ว ผู้บริหารสายงานตัวแทนและที่ปรึกษาการเงิน พร้อมด้วยกรรมการบริษัทและผู้บริหารระดับสูง
14 ม.ค. 2025
มีบ้านรับปีใหม่! ธอส. เผยผลการประมูลบ้านมือสองออนไลน์ ประจำเดือนมกราคม 2568 สามารถจำหน่ายได้ 106 รายการ มูลค่ารวมกว่า 133 ล้านบาท
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จัด งานประมูลบ้านมือสองออนไลน์ : GHBS NPA Online Auction 2025 ประจำเดือนมกราคม 2568 เมื่อวันศุกร์ที่ 10 มกราคม 2568 ระหว่างเวลา 12.00 - 12.30 น. พร้อมกันทั่วประเทศ
14 ม.ค. 2025
ทีทีบี สำรองเงินสดในช่วงเทศกาลตรุษจีนผ่านสาขาและเอทีเอ็มทั่วประเทศ
ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี เตรียมสำรองเงินสดในช่วงเทศกาลตรุษจีน ปี 2568 เพื่อรองรับการใช้จ่ายของลูกค้าและประชาชน ในระหว่างวันที่ 26 31 มกราคม 2568 จำนวน 13,000 ล้านบาท
14 ม.ค. 2025
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy