แชร์

CEMENT INDUSTRY ANALYSIS AND OUTLOOK แนวโน้มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

อัพเดทล่าสุด: 14 ม.ค. 2025
83 ผู้เข้าชม

KEY SUMMARY

อุปสงค์การใช้งานปูนซีเมนต์ปี 2025 มีโอกาสเติบโตจากโครงการก่อสร้างภาครัฐ ขณะที่ราคาปูนซีเมนต์ปรับตัวลดลงต่อเนื่องตามแนวโน้มราคาพลังงานโลก ปริมาณการใช้งานปูนซีเมนต์ในประเทศคาดว่าจะอยู่ที่ 29.4 ล้านตัน (+2.7%YOY) จากความต้องการใช้งานในโครงการก่อสร้างภาครัฐที่ขยายตัว ทั้งโครงการที่ก่อสร้างต่อเนื่องจากปี 2024 และโครงการที่กำลังจะเริ่มการก่อสร้างในปี 2025 รวมถึงโครงการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ของภาคเอกชน ขณะที่ปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์ยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง จากภาคอสังหาริมทรัพย์ในประเทศคู่ค้าหลัก ได้แก่ เวียดนาม สปป.ลาว และกัมพูชา ที่ยังอ่อนแอ และยังคงมีอุปทานปูนซีเมนต์ส่วนเกินในกลุ่มประเทศคู่ค้าหลัก อย่างไรก็ดี การผลิตปูนซีเมนต์ในปี 2025 จะสามารถขยายตัวสอดคล้องกับอุปสงค์การใช้งานในประเทศที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะมีปริมาณการผลิต 31.7 ล้านตัน (+2.2%YOY) ขณะที่ราคาปูนซีเมนต์เฉลี่ยปี 2025 มีแนวโน้มปรับตัวลดลง -2.9 %YOY แตะระดับ 1,900 บาท/ตัน เป็นผลมาจากแนวโน้มราคาพลังงานโลกที่ลดลง ได้แก่ ราคาถ่านหิน และราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญของการผลิตปูนซีเมนต์

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้แก่ผู้ผลิตปูนซีเมนต์ไทย

อุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์ถูกกำหนดให้ต้องมีการลดการปล่อย CO2 จากกระบวนการผลิต ตามเป้าหมายการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ส่งผลให้ผู้ผลิตปูนซีเมนต์ของไทยมีการพัฒนาปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ที่สามารถลดกระบวนการเผาไหม้เชื้อเพลิงจากการเผาไหม้ปูนเม็ดที่ก่อให้เกิดการปล่อย CO2 นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน และพลังงานทางเลือก รวมถึงการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการใช้เตาเผาเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพด้านการใช้พลังงานมากขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสในการขยายฐานลูกค้า ทั้งภาครัฐที่มีการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green public procurement) โดยได้กำหนดคุณสมบัติสินค้าวัสดุก่อสร้าง 3 ประเภท ในระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างสำหรับโครงการก่อสร้างของภาครัฐ ได้แก่ ปูนซีเมนต์ ฉนวนกันความร้อน และเหล็ก ที่จะต้องได้รับมาตรฐานรับรองด้านความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการลดการปล่อย CO2 ตามแรงกดดันของกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากขึ้น และเทรนด์ของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

Industry overview

การผลิตปูนซีเมนต์ถือเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ เนื่องจากเป็นวัสดุก่อสร้างหลักในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ รวมถึงโครงการก่อสร้างของภาคเอกชน ทั้งพื้นที่เชิงพาณิชย์ และที่อยู่อาศัย จากความต้องการใช้งานปูนซีเมนต์ในประเทศปริมาณมาก ส่งผลให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ของไทยเป็นการผลิตและใช้ในประเทศเป็นหลัก เพื่อลดความเสี่ยงด้านห่วงโซ่อุปทานที่อาจส่งผลให้กิจกรรมการก่อสร้างในประเทศหยุดชะงัก ซึ่งการผลิตปูนซีเมนต์ของไทยเริ่มต้นตั้งแต่กิจกรรมการจัดหาวัตถุดิบต้นน้ำ จากการทำเหมืองแร่และเหมืองหิน การผลิตและการบดปูนเม็ด (Clinker) เป็นปูนซีเมนต์แบบผง ไปจนถึงกระบวนการบรรจุ และการจัดจำหน่ายไปยังผู้ใช้งานขั้นสุดท้าย

ทั้งนี้อุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์ของไทยมีลักษณะการประกอบธุรกิจแบบผู้เล่นน้อยราย ซึ่งผู้เล่นรายใหญ่ 3 ราย ได้แก่ บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) มีสัดส่วนกำลังการผลิตสูงสุดรวมกันกว่า 85% ของกำลังการผลิตปูนซีเมนต์รวมทั้งประเทศ ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 66 ล้านตันต่อปี (ไม่รวมปูนเม็ด) โดยมีสัดส่วนการใช้งานปูนซีเมนต์ในประเทศอยู่ที่ 75% ส่วนอีก 25% เป็นตลาดส่งออก ทั้งในรูปแบบปูนเม็ด และปูนซีเมนต์พอร์ตแลนด์ ไปยังประเทศคู่ค้าหลัก 5 อันดับแรก ได้แก่ บังกลาเทศ ออสเตรเลีย เมียนมา กัมพูชา และ สปป.ลาว นอกจากนี้ ผู้ผลิตปูนซีเมนต์ไทยยังมีการลงทุนตั้งฐานการผลิตในต่างประเทศอีกด้วย

แนวโน้มการตั้งเป้าหมายเพื่อเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ในหลายประเทศทั่วโลก ส่งผลให้ผู้ผลิตปูนซีเมนต์ต่างกำลังพัฒนาการผลิตปูนซีเมนต์โดยการลดการปล่อย CO2 จากกระบวนการผลิต โดยเฉพาะการผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ซึ่งถือเป็น Low-carbon product ที่สามารถลดกระบวนการเผาไหม้เชื้อเพลิงจากการเผาไหม้ปูนเม็ดที่ก่อให้เกิดการปล่อย CO2 โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2024 ผู้ผลิตปูนซีเมนต์ของไทยมีการผลิตปูนซีเมนต์ที่เป็น Low-carbon product ออกสู่ตลาดคิดเป็นสัดส่วน (Conversion rate) โดยเฉลี่ยที่ราว 80% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่สัดส่วนการผลิตปูนซีเมนต์ประเภทดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 60-65% รวมถึงยังดำเนินการเพิ่มสัดส่วนการวางจำหน่าย Low-carbon product ในตลาดอย่างต่อเนื่อง

Industry outlook and trend

ในปี 2025 ปริมาณการใช้งานปูนซีเมนต์ในประเทศมีแนวโน้มอยู่ที่ 29.4 ล้านตัน (+2.7%YOY) ขณะที่ปริมาณการส่งออกยังคงมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องที่ -7.0%YOY ส่งผลให้การใช้งานปูนซีเมนต์ของไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวได้เล็กน้อยที่ประมาณ +1.0%YOY
 
แม้ว่าปริมาณการใช้งานปูนซีเมนต์ในประเทศตลอดทั้งปี 2024 จะลดลงจากปีก่อนหน้าประมาณ -8.0%YOY แต่คาดว่าปริมาณการใช้งานปูนซีเมนต์จะมีโอกาสฟื้นตัวได้ในปี 2025 โดยมีปัจจัยหนุนจากความต้องการใช้งานที่เพิ่มขึ้นไปตามภาคการก่อสร้างที่มีแนวโน้มขยายตัว โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างภาครัฐที่มีการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง ในปี 2025 จะมีความคืบหน้าในก่อสร้างโครงการ Mega projects ใหม่ ๆ อาทิ รถไฟทางคู่ เฟส 2 ช่วงขอนแก่น-หนองคาย รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ (ส่วนตะวันตก) รวมถึงยังมีโครงการที่รอเสนอคณะรัฐมนตรี ตลอดจนโครงการก่อสร้างของภาคเอกชน ในส่วนของอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ ทั้งพื้นที่ค้าปลีก และอาคารสำนักงานที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ ส่งผลให้ปริมาณการใช้งานปูนซีเมนต์ในประเทศในปี 2025 มีแนวโน้มอยู่ที่ประมาณ 29.4 ล้านตัน (+2.7%YOY)

สำหรับการส่งออกปูนซีเมนต์โดยรวมมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง จากปัจจัยกดดันด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และการชะลอตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศคู่ค้าหลัก อาทิ เวียดนาม กัมพูชา ศรีลังกา และบังกลาเทศ ประกอบกับภาวะอุปทานส่วนเกินของปูนซีเมนต์ในกลุ่มประเทศดังกล่าว ซึ่งเกิดจากการผลิตที่มากเกินความต้องการใช้งาน ส่งผลให้ผู้ผลิตในแต่ละประเทศมีแผนที่จะปรับลดปริมาณการผลิตเพื่อให้สอดคล้องกับอุปสงค์ที่แท้จริง และเร่งระบายอุปทานปูนซีเมนต์ส่วนเกินที่มีอยู่ก่อนหน้า ดังนั้น จึงคาดว่า

 
ปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์ของไทยในปี 2025 ทั้งปูนเม็ด (Clinker) ปูนซีเมนต์พอร์ตแลนด์ และปูนซีเมนต์ผสมประเภทอื่น ๆ โดยรวม มีแนวโน้มลดลงไปอยู่ที่ประมาณ 5.6 ล้านตัน (-7.0%YOY) ทั้งนี้การส่งออกปูนซีเมนต์ในระยะต่อจากนี้มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนปี 2020 โดยมีแรงกดดันจากการมีผู้ผลิตหลายรายในประเทศคู่ค้าหลักอยู่แล้ว ประกอบกับผู้ผลิตปูนซีเมนต์ของไทยได้เข้าไปลงทุนขยายฐานการผลิตในต่างประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญ และส่งผลให้ความต้องการนำเข้าปูนซีเมนต์จากไทยมีแนวโน้มลดลงในภาพรวม

สำหรับราคาปูนซีเมนต์พอร์ตแลนด์ในประเทศ ณ เดือนกันยายน 2024 อยู่ที่ 1.58 พันบาท/ตัน ปรับตัวลดลง -26.9%YTD เป็นผลมาจากการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการในตลาดที่อยู่ในระดับสูง และความต้องการใช้งานที่ชะลอตัว รวมถึงต้นทุนพลังงานหลักที่ใช้ในการผลิต อย่างราคาถ่านหินลดลง สำหรับราคาปูนซีเมนต์ในปี 2025 จะยังคงมีแนวโน้มลดลงอีกประมาณ -2.9%YOY ส่งผลให้ราคาปูนซีเมนต์โดยเฉลี่ยลดลงแตะระดับ 1.90 พันบาท/ตัน สอดคล้องตามแนวโน้มราคาพลังงานในตลาดโลก อย่างราคาถ่านหิน และราคาน้ำมันที่ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง

ในช่วงปี 2020-2024 การผลิตปูนซีเมนต์ของไทยลดลงอย่างต่อเนื่องโดยเฉลี่ย -5.1%CAGR ตามอุปสงค์โดยรวมของตลาดในประเทศ และตลาดส่งออก ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตปูนซีเมนต์ของไทยลดลงตาม อย่างไรก็ดี แนวโน้มการใช้งานปูนซีเมนต์ที่คาดว่าจะฟื้นตัวได้จากโครงการก่อสร้างภาครัฐ และการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ของภาคเอกชน จะส่งผลให้ปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์ในปี 2025 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นประมาณ 2.2%YOY โดยมีระดับการผลิตอยู่ที่ 31.7 ล้านตัน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มการใช้งานที่เพิ่มขึ้น และรักษาระดับสินค้าคงคลังไว้ในระดับที่ใกล้เคียงกับในช่วงที่ผ่านมา
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ สศอ.

Competitive landscape

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และขยายช่องทางการตลาด ที่สามารถเจาะกลุ่มลูกค้าได้อย่างครอบคลุม จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับผู้ผลิตปูนซีเมนต์ของไทย

ในช่วงที่ผ่านมา ผู้ผลิตปูนซีเมนต์ของไทยต่างให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ส่งผลให้มีการผลิตปูนซีเมนต์ที่เป็น Low-carbon product รวมถึงปูนซีเมนต์สำเร็จรูป หรือปูนซีเมนต์มอร์ตาร์ ที่สะดวกต่อการใช้งานเฉพาะ เช่น งานก่อ งานฉาบ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มจากปูนซีเมนต์ทั่วไป ออกมาแข่งขันในตลาดเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์ในตลาด ขณะเดียวกัน การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการมีความรุนแรงมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีการใช้กลยุทธ์ขยายฐานลูกค้า การมุ่งทำการตลาดทั้งในรูปแบบผู้ผลิตถึงกลุ่มลูกค้าธุรกิจ (B2B) เช่น กลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้าง ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และรูปแบบผู้ผลิตถึงผู้บริโภคโดยตรง (B2C) เช่น การเปิดร้านค้าปลีกภายใต้  แบรนด์ของตนเอง การขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ และในบางรายก็มีการจำหน่ายโดยตรงให้กับโครงการภาครัฐ (B2G) เพื่อขยายฐานลูกค้าให้มีความหลากหลาย และครอบคลุมมากขึ้น

ทั้งนี้ผู้ผลิตปูนซีเมนต์ของไทยมีการบริหารจัดการต้นทุนการผลิตได้ค่อนข้างดีส่งผลให้ระดับอัตรากำไรยังอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง สะท้อนจากตัวเลขผลประกอบการโดยรวมของผู้ผลิตปูนซีเมนต์ของไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2024 ที่แม้ว่าจะมีรายได้จากการขายสินค้าที่ลดลง เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่ก็ยังมีอัตรากำไรที่เพิ่มขึ้น จากต้นทุนการผลิตที่ลดลง โดยเฉพาะต้นทุนราคาถ่านหินที่ลดลงกว่า 30%YOY และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน และพลังงานทางเลือกในกระบวนการผลิต รวมถึงการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการใช้เตาเผาเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพด้านการใช้พลังงานมากขึ้น

SCB EIC คาดว่า การใช้พลังงานสะอาด และพลังงานทางเลือกในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ที่จะเพิ่มมากขึ้นในระยะข้างหน้า นำมาสู่การผลิตปูนซีเมนต์ที่เป็น Low-carbon product ที่คาดว่าจะมีความต้องการใช้งานเพิ่มมากขึ้น ทั้งภาครัฐที่มีการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green public procurement) โดยได้กำหนดคุณสมบัติสินค้าวัสดุก่อสร้าง 3 ประเภท ในระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างสำหรับโครงการก่อสร้างของภาครัฐ ได้แก่ ปูนซีเมนต์ ฉนวนกันความร้อน และเหล็ก ที่จะต้องได้รับมาตรฐานรับรองด้านความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการลดการปล่อย CO2 ตามแรงกดดันของกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากขึ้น และเทรนด์ของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น


บทความที่เกี่ยวข้อง
กรุงเทพประกันชีวิต จัดงาน Bangkok Life Agency Kick Off 2025  ปลุกพลังตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงินครั้งใหญ่ รับศักราชใหม่ปี 2568
บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) โดย นายโชน โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นายจักรพงศ์ แสงแก้ว ผู้บริหารสายงานตัวแทนและที่ปรึกษาการเงิน พร้อมด้วยกรรมการบริษัทและผู้บริหารระดับสูง
14 ม.ค. 2025
มีบ้านรับปีใหม่! ธอส. เผยผลการประมูลบ้านมือสองออนไลน์ ประจำเดือนมกราคม 2568 สามารถจำหน่ายได้ 106 รายการ มูลค่ารวมกว่า 133 ล้านบาท
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จัด งานประมูลบ้านมือสองออนไลน์ : GHBS NPA Online Auction 2025 ประจำเดือนมกราคม 2568 เมื่อวันศุกร์ที่ 10 มกราคม 2568 ระหว่างเวลา 12.00 - 12.30 น. พร้อมกันทั่วประเทศ
14 ม.ค. 2025
ทีทีบี สำรองเงินสดในช่วงเทศกาลตรุษจีนผ่านสาขาและเอทีเอ็มทั่วประเทศ
ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี เตรียมสำรองเงินสดในช่วงเทศกาลตรุษจีน ปี 2568 เพื่อรองรับการใช้จ่ายของลูกค้าและประชาชน ในระหว่างวันที่ 26 31 มกราคม 2568 จำนวน 13,000 ล้านบาท
14 ม.ค. 2025
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy