การทางพิเศษฯ จัดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน (Opinion hearing) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
วันนี้ (16 ธันวาคม พ.ศ. 2567) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จัดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน (Opinion hearing) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ข้อมูลสาระสำคัญของโครงการแก่นักลงทุน ประเมินความสนใจและสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนของภาคเอกชน พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะจากนักลงทุนและผู้เกี่ยวข้อง นำไปประกอบการจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โดยมี นายกาจผจญ อุดมธรรมภักดี รองผู้ว่าการ (ยุทธศาสตร์และแผน) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย เป็นประธานในเปิดการสัมมนา ณ ห้องคาร์ลตัน แกรนด์ บอลรูม ชั้น 9 โรงแรมคาร์ลตัน กรุงเทพฯ สุขุมวิท
นายกาจผจญ อุดมธรรมภักดี รองผู้ว่าการ (ยุทธศาสตร์และแผน) กล่าวว่า โครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์ - ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเดินทางที่จะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 รวมทั้งเป็นการเพิ่มศักยภาพด้านการคมนาคมและแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้เกิดความสะดวกและปลอดภัยต่อผู้เดินทางยิ่งขึ้น
แนวเส้นทางโครงการเป็นรูปแบบทางยกระดับตามแนวทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 โดยมีจุดเริ่มต้นบริเวณจุดปลายของทางพิเศษศรีรัช ส่วน D ในปัจจุบัน เป็นทางยกระดับ 2 ฝั่ง แบ่งทิศทาง (ไป-กลับ) ทิศทางละ 2 ช่องจราจร ตั้งอยู่บริเวณเกาะกลางระหว่างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 และทางบริการ ทั้ง 2 ฝั่ง (ทิศเหนือ-ทิศใต้) มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกผ่านทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์ จากนั้นทางยกระดับด้านทิศเหนือจะเบี่ยงลงมารวมกับทางยกระดับด้านทิศใต้เป็นโครงสร้างทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร ระยะทางประมาณ 8.95 กิโลเมตร ผ่านทางแยกต่างระดับทับช้าง ก่อนจะแยกโครงสร้างเป็น 2 ฝั่งของทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 บริเวณจุดตัดถนนร่มเกล้า จากนั้นจะแยกออกจากทางหลักขนาด 2 ช่องจราจร เลี้ยวขวาเข้าเชื่อมทางเข้า-ออกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่ทางแยกต่างระดับสุวรรณภูมิ และทางหลักจะมุ่งหน้าผ่านทางแยกต่างระดับสุวรรณภูมิ จากนั้นลดระดับลงบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 บริเวณหน้าสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) รวมระยะทางทั้งหมดประมาณ 15.8 กิโลเมตร โดยมีจุดเข้า-ออกโครงการ 3 จุด คือ 1) จุดเริ่มต้นโครงการ บริเวณทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์ 2) จุดเชื่อมต่อทางเข้า-ออกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และ 3) จุุดสิ้นสุดโครงการ บริเวณหน้า สจล. และมีด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษตั้งอยู่บนโครงสร้างทางยกระดับทั้งฝั่งขาเข้าและฝั่งขาออก บริเวณทางแยกต่างระดับร่มเกล้า โดยจัดเก็บค่าผ่านทางระบบเปิด แบบใช้พนักงาน (MTC) และแบบอิเล็กทรอนิกส์ (ETC) ร่วมกัน
สำหรับมูลค่าการลงทุนของโครงการ ประกอบด้วย ค่าก่อสร้าง ค่าออกแบบ ค่าควบคุมงานรวมทั้งหมดประมาณ 20,701 ล้านบาท โดยมีผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ (EIRR) ของโครงการ เท่ากับ ร้อยละ 14.04 และผลตอบแทนด้านการเงิน (FIRR) ของโครงการ เท่ากับ ร้อยละ 5.86 ทั้งนี้ กทพ. เห็นถึงความสำคัญและศักยภาพของเอกชนในการดำเนินโครงการ ทางพิเศษ จึงเปิดโอกาสให้เอกชน เข้าร่วมทุนในโครงการ โดยรัฐจะรับผิดชอบงาน จัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และเอกชนจะรับผิดชอบงานออกแบบ และก่อสร้างงานโยธาของโครงการ รวมทั้งติดตั้งงานระบบทางพิเศษ รวมถึงดำเนินงานและบำรุงรักษา พร้อมจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง และบริหารจัดการ
ในวันนี้ จึงเป็นโอกาสสำคัญอย่างยิ่งที่การทางพิเศษฯ ได้จัดการสัมมนาขึ้น เพื่อให้ภาคธุรกิจเอกชน กลุ่มสถาบันการเงิน กลุ่มนักลงทุน ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ และสมาคมการค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อโครงการ เพื่อที่การทางพิเศษฯ จะได้นำความคิดเห็นของทุกภาคส่วนไปประกอบการจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ต่อไป