แชร์

กลุ่มเอสซีบีเอกซ์ โดยธนาคารไทยพาณิชย์ จัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติ ตามรอยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า ฯ เจ้าฟ้านักอนุรักษ์

อัพเดทล่าสุด: 29 เม.ย. 2025
81 ผู้เข้าชม

เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ ๗๐ พรรษา ในวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๘ กลุ่มเอสซีบีเอกซ์ โดยธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติ ตามรอยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า ฯ เจ้าฟ้านักอนุรักษ์ เพื่อเผยแพร่พระอัจฉริยภาพและพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงในงานด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งในปีพุทธศักราช ๒๕๒๘ รัฐบาลได้ประกาศให้วันที่ ๒ เมษายนของทุกปีเป็น "วันอนุรักษ์มรดกไทย" เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้จัดพิธีเปิดนิทรรศการ ฯ โดยมี นายวรวัจน์ สุวคนธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานทรัพยากรบุคคล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้แทนกลุ่มเอสซีบีเอกซ์เปิดงาน พร้อมด้วย รศ.ดร.หนึ่งฤดี โลหผล หัวหน้าโครงการอนุรักษ์ โครงการคลังข้อมูลของแผ่นดินสยาม ฯ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดร.รัชพล เต๋จ๊ะยา ครูช่างศิลปหัตถกรรมกระจกเกรียบโบราณ ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยบ้านเต๋จ๊ะยา ร่วมถ่ายทอดเรื่องราวและประสบการณ์ในการทำงานด้านการอนุรักษ์เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นต่อไปได้เห็นคุณค่าของภูมิปัญญาและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ไทย ณ พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่

นิทรรศการ ฯ จัดแสดงตัวอย่างผลงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและพระราชจริยวัตรด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบทอดงานด้านศิลปวัฒนธรรม เพื่อน้อมนำหลักการทรงงานมาเป็นแนวทางในการดำเนินงานให้สัมฤทธิ์ผลและเกิดประโยชน์ต่อสังคมไทยอย่างยั่งยืน ผ่านงานอนุรักษ์ต่าง ๆ โดยการใช้วิทยาการและเทคโนโลยี ทั้งภูมิปัญญาดั้งเดิมและเทคโนโลยีใหม่ที่เหมาะสม ได้แก่

โครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง เนื่องในวาระครบ ๒๐๐ ปี กรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับพระราชภารกิจเป็นแม่กองในการบูรณปฏิสังขรณ์ ด้วยความเอาพระทัยใส่ในงานทุกส่วน ทรงเน้นย้ำเรื่องการศึกษาก่อนทำการอนุรักษ์ ทำให้เกิดการฟื้นฟูมรดกทางวัฒนธรรมไทยโบราณอันทรงคุณค่าที่สูญหายไป อาทิ การบูรณะปฏิสังขรณ์การประดับกระจกสีที่พระอุโบสถและอาคารอื่น ๆ ทรงให้ค้นคว้าภูมิปัญญาการหุง กระจกเกรียบ มหัศจรรย์ประณีตศิลป์แห่งสยามที่สูญหายไปแล้ว โดยมีพระบัญชาให้เก็บตัวอย่างกระจกเดิมที่เหลืออยู่เล็กน้อยไว้ที่เสาระเบียงพระอุโบสถและซุ้มใบเสมา ๑ ซุ้ม เพื่อเป็นหลักฐานให้นักวิชาการและนักวิจัยรุ่นใหม่ใช้เป็นข้อมูลอ้างอิง ซึ่งก่อให้เกิดการศึกษาค้นคว้าวัสดุทดแทนโดยการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ร่วมกับภูมิปัญญาดั้งเดิม สร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมเชิงวัฒนธรรมอย่างกลมกลืน ซึ่งมีผู้ค้นคว้า วิจัยหลายโครงการ หนึ่งในนั้นคือ โครงการวิจัยค้นคว้าของ ดร.รัชพล เต๋จ๊ะยา อาจารย์วิชาวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีความสนใจงานช่างศิลป์ทำแก้วสีแบบเก่าตามตำราโบราณ ที่ได้รับองค์ความรู้ตกทอดมาจากต้นตระกูลชาวไทเขิน และได้ทำการวิจัยค้นคว้า จนสามารถฟื้นฟูศาสตร์และศิลปะการหุงกระจกเกรียบตามแบบดั้งเดิมได้สำเร็จ สามารถขยายผลสู่งานการบูรณะเครื่องราชภัณฑ์ในสำนักพระราชวัง โบราณสถาน และโบราณวัตถุที่สำคัญของชาติ เช่น พระพุทธบัลลังก์พระศรีศากยมุนี พระประธานในพระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวราราม ซึ่งเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) และโครงการบูรณะพระไสยาสน์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ อันเป็นส่วนหนึ่งในการสืบสานรักษาความงดงามของอารยธรรมให้คงอยู่คู่ชาติไทย

การอนุรักษ์พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปี แห่งการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คณะนักวิชาการของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำรวจพบว่าพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งประดิษฐาน ณ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ มีอายุกว่า

หนึ่งร้อยปีมีความชำรุดเสื่อมสภาพ พระบรมฉายาลักษณ์ทั้ง ๒ องค์ เป็นผลงานศิลปะภาพถ่ายที่ทรงคุณค่ายิ่ง เป็นหลักฐานการพิมพ์ภาพจากฟิล์มกระจกลงบนกระดาษขนาดใหญ่เสมือนพระองค์จริง (Life-size photographs) ซึ่งในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ เป็นกรณีที่ทำได้ยากยิ่ง ทรงตระหนักถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดความเสียหายเมื่อเปิดกรอบภาพโบราณเพื่อการบูรณะ จึงมีรับสั่งให้ศึกษาหาวิธีสำรอง เพื่อเตรียมจัดทำชิ้นงานเสมือนภาพต้นฉบับอีกวิธีหนึ่ง ด้วยพระราชูปถัมภ์และแนวพระราชดำริ จึงได้เกิดโครงการอนุรักษ์พระบรมฉายาลักษณ์ โดยมีขั้นตอนการอนุรักษ์อย่างเป็นระบบ ทั้งกระบวนการศึกษา ค้นคว้า บูรณะงานชิ้นเดิม และสามารถสร้างผลงานชิ้นใหม่ ด้วยกระบวนการพิมพ์ภาพด้วยเทคนิคการพิมพ์ภาพถ่ายด้วยแร่แพลทินัมและแร่แพลเลเดียม (Platinum-Palladium Print) ได้อีกครั้ง ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีการพิมพ์ภาพที่มีความงดงามและสีจะคงสภาพเดิมแม้เวลาจะผ่านไปเป็นศตวรรษ การอนุรักษ์พระบรมฉายาลักษณ์ทั้ง ๒ องค์นี้ ทำให้เห็นความสำคัญของการเก็บข้อมูลเอกสาร ซึ่งเป็นองค์ความรู้ เป็นฐานข้อมูลให้กับการศึกษา วิจัย รวมถึงการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุของชาติ รวมถึงคลังเอกสารที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมของไทยซึ่งปัจจุบันอยู่ในต่างประเทศ จึงนำมาสู่การกำเนิดโครงการคลังข้อมูลของแผ่นดินสยามต่อไป

โครงการ คลังข้อมูลของแผ่นดินสยาม ยุครัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๖ จากภารกิจงานอนุรักษ์พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๖ ซึ่งเป็นผลงานศิลปะภาพถ่ายที่ทรงคุณค่ายิ่ง นำมาสู่การต่อยอดการอนุรักษ์เอกสารประวัติศาสตร์สำคัญของสยาม โดยใช้นวัตกรรมบันทึกอดีตสู่การพัฒนาคลังปัญญาแห่งอนาคต โดยเป็นโครงการที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) มีส่วนร่วมสนับสนุนผ่านมูลนิธิมหาจักรีสิรินธร เพื่อคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การดูแลของ รศ.ดร.หนึ่งฤดี โลหผล หัวหน้าโครงการอนุรักษ์ โครงการคลังข้อมูลของแผ่นดินสยาม ฯ เพื่อรวบรวม สร้างคลังข้อมูลประวัติศาสตร์ของแผ่นดินไทยที่กระจายอยู่ในต่างประเทศ กลับสู่แผ่นดินไทยในรูปแบบคลังดิจิทัลความละเอียดสูง ตามแนวพระปณิธานของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดยในนิทรรศการ ฯ นี้ ได้นำผลงานบางส่วนที่ยังไม่เคยจัดแสดงที่ไหนมาก่อน มาจัดเผยแพร่สู่สาธารณชนเป็นครั้งแรก เช่น สำเนาพิมพ์เขียว อาคารแบงก์สยามกัมมาจล (Siam Commercial Bank) ธนาคารไทยแห่งแรกของประเทศ ซึ่งนายมารีโอ ตามานโญ (Mario Tamagno) สถาปนิกชาวอิตาเลียนผู้มีสัญญารับราชการกับรัฐบาลสยาม ช่วงรัชกาลที่ ๕ และ รัชกาลที่ ๖ ได้นำพิมพ์เขียวต้นฉบับกลับไปเก็บรักษาไว้ที่บ้านพักในประเทศอิตาลี หลังสิ้นสุดสัญญาการว่าจ้างมาทำงานในสยามซึ่งยาวนานกว่า ๒๕ ปี ภาพถ่ายอาคารแบงค์สยามกัมมาจล ที่มีตัวหนังสือลายมือของนายมารีโอ ตามานโญ อ้างอิงตามบัญชีรายการผลงานที่นายมารีโอ ตามานโญ ได้จัดทำขึ้น ระบุว่าเขาเป็นผู้ควบคุมงานเทคนิคก่อสร้างและดูแลงบประมาณที่ใช้เพื่อการก่อสร้างอาคารในช่วง พ.ศ. ๒๔๕๒ - ๒๔๕๓ โดยมีนายอันนีบาเล รีก็อตตี (Annibale Rigotti) เป็นสถาปนิกหลักผู้ออกแบบสถาปัตยกรรม เป็นต้น ซึ่งทั้ง ๒ ชิ้นงานนี้ คณะทำงานโครงการ ฯ ได้เดินทางไปเก็บข้อมูลและสร้างคลังข้อมูลดิจิทัลความละเอียดสูงที่ประเทศอิตาลี โดยได้รับความอนุเคราะห์จากศาสตราจารย์เอเลนา ตามานโญ ทายาทของนายมารีโอ ตามานโญ

ขอเชิญผู้ที่สนใจร่วมศึกษาเรียนรู้พระราชดำริและพระราชจริยวัตรด้านการอนุรักษ์ ไขความลับ คลังปัญญาแห่งแผ่นดิน คลังข้อมูลแผ่นดินสยาม และการฟื้นฟูมรดกทางวัฒนธรรมไทย กระจกเกรียบ มหัศจรรย์ประณีตศิลป์แห่งสยาม ได้ที่นิทรรศการเทิดพระเกียรติ ตามรอยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า ฯ เจ้าฟ้านักอนุรักษ์ ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๖๘ ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ณ พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ (รัชโยธิน) ระหว่างเวลา ๙.๓๐ ๑๖.๓๐ น. (เว้นวันหยุดธนาคาร)


บทความที่เกี่ยวข้อง
ทิพยประกันภัย เปิดบ้านต้อนรับและร่วมแสดงความยินดีกับทีมสุพรีม  ในโอกาสคว้าแชมป์วอลเลย์บอลไทยแลนด์ ลีก ฤดูกาล 20242025 อย่างสมศักดิ์ศรี
ดร.สมพร สืบถวิลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ให้การต้อนรับ นายภาณุพงศ์ ขันธโมลีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สุพรีม ดิสทิบิวชั่น จำกัด (มหาชน)
29 เม.ย. 2025
บีเคไอ โฮลดิ้งส์ (BKIH) จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 2
บริษัท บีเคไอ โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BKIH จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 2 นำโดย ดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน (กลาง) กรรมการและประธานคณะผู้บริหาร ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมจากมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้น พร้อมด้วยคณะกรรมการ
29 เม.ย. 2025
เวียตเจ็ทเสริมฝูงบิน เดินหน้ารุกตลาดญี่ปุ่น ขยายเส้นทางระหว่างประเทศ หนุนแผนเติบโตปี 2568    
เวียตเจ็ท (เวียดนาม) รับมอบเครื่องบินแอร์บัส A321neo ACF หมายเลขทะเบียน VN-A516 เข้าประจำการเป็นลำที่ 117 เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของฝูงบิน รองรับแผนการขยายเส้นทางบินและการเติบโตในปี 2568
29 เม.ย. 2025
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy