แชร์

แนวโน้มอุตสาหกรรมการผลิตสีทาอาคาร

อัพเดทล่าสุด: 16 เม.ย. 2025
103 ผู้เข้าชม

อุตสาหกรรมสีทาอาคารในไทย ส่วนใหญ่ราว 95% ของมูลค่าตลาดเป็นการใช้งานในประเทศ ในขณะที่อีก 5% เป็นการส่งออกไปจำหน่ายยังกลุ่มประเทศ CLMV คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม เป็นหลัก โดยปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความต้องการใช้งานสีทาอาคาร ได้แก่ การขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้งการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย และพื้นที่เชิงพาณิชย์ของภาคเอกชน รวมถึงภาคครัวเรือนที่มีความต้องการปรับปรุงและตกแต่งที่พักอาศัย ทั้งนี้อุตสาหกรรมสีทาอาคารในไทยประกอบด้วยผู้เล่นหลัก 8 ราย ทั้งผู้ผลิตสัญชาติไทย และผู้ผลิตต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนตั้งโรงงานในไทยภายใต้แบรนด์ชั้นนำในระดับสากล[1] โดยมีบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจำนวน 2 ราย ได้แก่ บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (TOA) และบริษัท สีเดลต้า จำกัด (มหาชน) (DPAINT)

ตลาดสีทาอาคารในไทยมีการแข่งขันสูงระหว่างผู้ประกอบการหลักในอุตสาหกรรม ทั้งตลาดสีทาอาคารกลุ่มพรีเมียมและสีคุณภาพพิเศษ (Premium & Specialty) เช่น สีกันความร้อน สีต้านเชื้อรา สีปลอดสารพิษ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผู้อยู่อาศัย และสัตว์เลี้ยง ซึ่งมีราคาสูงกว่าสีทาอาคารทั่วไป และเน้นการแข่งขันด้านคุณภาพและนวัตกรรมการผลิต และตลาดสีกลุ่ม Standard & Economy ซึ่งเป็นตลาดทั่วไป ที่เน้นการแข่งขันด้านราคา และความคุ้มค่าเป็นหลัก


สำหรับโครงสร้างต้นทุนการผลิตสีทาอาคารส่วนใหญ่ราว 57% ของต้นทุนการผลิตโดยรวม เป็นต้นทุนวัตถุดิบ เช่น สารช่วยยึดและประสานสี (Binder) และเม็ดสี (Pigment)  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเคมีภัณฑ์ที่อาศัยการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก และราคาวัตถุดิบดังกล่าวมักมีทิศทางเดียวกันกับการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันโลกที่มีความผันผวน ประกอบกับผู้ผลิตสีทาอาคารยังมีต้นทุนพลังงานอีกราว 24% ที่ใช้ในการขนส่ง และพลังงานไฟฟ้าในสายการผลิต สะท้อนความท้าทายในการบริหารจัดการต้นทุนของผู้ผลิตสีทาอาคารที่มีความผันผวนระดับสูง

ทั้งนี้ช่องทางการจำหน่ายหลักของสินค้าสีทาอาคารของผู้ผลิตราว 65% ของยอดขายรวม ยังคงเป็นร้านค้าปลีกหรือร้านขายวัสดุก่อสร้างทั่วไปที่เป็นตัวแทนจำหน่ายของบริษัทโดยตรง ที่มีการกระจายตัวทั่วประเทศ นอกจากนี้ เป็นการจำหน่ายผ่านร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern trade) คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 25% ของยอดขายรวม และอีกประมาณ 10% เป็นการจำหน่ายผ่านช่องทางการจำหน่ายอื่น ๆ อาทิ การจำหน่ายโดยตรงไปยังผู้รับเหมาก่อสร้าง และผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ตามความต้องการใช้งานในภาคก่อสร้าง การจำหน่ายผ่านช่องทาง E-commerce รวมไปถึงการส่งออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ค้าส่งและผู้ค้าปลีกใน CLMV

Industry outlook and trend

ปี 2025 มูลค่าตลาดสีทาอาคารมีแนวโน้มฟื้นตัวมาอยู่ที่ 2.76 หมื่นล้านบาท ขยายตัว 2.2% ใกล้เคียงกับอัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยต่อปีในช่วงปี 2020-2024 จากแนวโน้มการใช้งานในโครงการก่อสร้างพื้นที่เชิงพาณิชย์ ขณะที่การก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ยังมีปัจจัยกดดันจากการหดตัวของตลาดที่อยู่อาศัย

ในปี 2024 ที่ผ่านมา ราคาสีทาอาคารปรับตัวลดลงจากปีก่อนหน้าประมาณ 6.5% และมีการแข่งขันค่อนข้างสูง โดยเฉพาะการแข่งขันด้านราคา ประกอบกับปริมาณการใช้งานก็ลดลงจากการหดตัวของตลาดที่อยู่อาศัย ส่งผลให้มูลค่าตลาดสีทาอาคารหดตัวประมาณ 3.6%YOY

สำหรับแนวโน้มของอุตสาหกรรมสีทาอาคารในปี 2025 แม้ราคาสีทาอาคารยังคงมีแนวโน้มปรับตัวลดลงตามต้นทุนวัตถุดิบสำคัญ ที่เป็นไปตามทิศทางราคาน้ำมันดิบที่ลดลง แต่ยังได้แรงหนุนจากปริมาณการใช้งานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปี 2024 ตามแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ของภาคเอกชน ทั้งโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ในทำเลใจกลางเมือง และย่านธุรกิจ พื้นที่สำนักงานให้เช่า รวมถึงการปรับปรุงพื้นที่ค้าปลีก และโรงแรม ประกอบกับความต้องการใช้งานสีทาอาคารของภาคครัวเรือนสำหรับการปรับปรุงตกแต่งที่พักอาศัย จะส่งผลให้มูลค่าตลาดสีทาอาคารขยายตัว +2.2%YOY แตะระดับ 2.76 หมื่นล้านบาท โดยเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับอัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยต่อปีในช่วงปี 2020-2024 ซึ่งอยู่ที่ 2.9%

อย่างไรก็ตาม ตลาดสีทาอาคารในปี 2025 ยังคงเผชิญแรงกดดันจากตลาดที่อยู่อาศัยที่คาดว่าจะหดตัว จากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ราคาที่อยู่อาศัยใหม่ที่ปรับตัวสูงขึ้น และอุปสรรคในการเข้าถึงสินเชื่อ ซึ่งเป็นความท้าทายต่อการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ โดยการเปิดตัวโครงการระดับราคาปานกลาง-ล่างของผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยยังมีแนวโน้มเป็นไปอย่างระมัดระวัง และการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ส่วนใหญ่ยังมีแนวโน้มอยู่ในกลุ่มระดับราคาสูง


SCB EIC มองว่า แม้ภาพรวมของตลาดสีทาอาคารในปี 2025 จะเผชิญความท้าทายจากการหดตัวของตลาดที่อยู่อาศัย แต่การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ ครอบคลุมหลายพื้นที่ในทำเลที่มีศักยภาพ จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ปริมาณการใช้งานสีทาอาคารเพิ่มขึ้น หนุนให้มูลค่าตลาดสีทาอาคารสามารถขยายตัวได้ นอกจากนี้ การเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ในกลุ่มระดับราคาสูง ยังเป็นโอกาสของผลิตภัณฑ์สีทาอาคารเกรดพรีเมียม อาทิ สีทาอาคารที่เพิ่มความทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ มีชั้นเนื้อฟิล์มที่ยืดหยุ่นได้สำหรับปิดผิวแตกร้าว ทนต่อความชื้นสูง หรือเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงที่ส่งเสริมความเป็นมิตรต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัย รวมถึงผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ยังสามารถเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง ที่มีความต้องการปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัย และกลุ่มการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ที่ได้การรับรองมาตรฐานอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งอาคารสำนักงาน และพื้นที่ค้าปลีก ซึ่งผู้ผลิตสีทาอาคารสามารถกำหนดราคาขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้ในระดับสูง และมีอัตรากำไรที่สูงกว่าสีทาอาคารเกรดทั่วไป

Competitive landscape

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของผู้อยู่อาศัย จะสร้างความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดสำหรับผู้ผลิตสีทาอาคาร

ผู้ผลิตสีทาอาคารในไทยประกอบด้วยผู้ผลิตหลายรายภายใต้แบรนด์ต่าง ๆ ที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง ทั้งในด้านราคา และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย ครอบคลุมความต้องการใช้งานของกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกัน โดยผู้ผลิตรายใหญ่ที่มีการผลิตปริมาณมากจนเกิดการประหยัดต่อขนาด จะมีความได้เปรียบในการแข่งขันด้านราคา และได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต้นทุนน้อยกว่าผู้ผลิตรายกลางและเล็ก ทำให้ยังสามารถรักษาอัตรากำไรได้ดีกว่า ท่ามกลางภาวะต้นทุนวัตถุดิบ อาทิ เคมีภัณฑ์ เรซิน ยังคงผันผวน นอกจากนี้ การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในกระบวนการผลิต จะยังช่วยลดต้นทุนด้านพลังงาน ซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญของการผลิตสีทาอาคาร และช่วยรักษาระดับอัตรากำไรได้

แม้ตัวแทนจำหน่ายตามร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมจะยังคงเป็นช่องทางหลักในการจำหน่ายสีทาอาคาร แต่ก็ยังมีโอกาสในการขยายการเข้าถึงผู้บริโภคผ่านช่องทางการจำหน่ายอื่น ๆ อาทิ ร้านโมเดิร์นเทรดที่มีบริการเครื่องผสมสีตามความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย และมีสต็อกสินค้ามากกว่า รวมถึงการจำหน่ายโดยตรงจากบริษัทผู้ผลิตไปยังผู้บริโภค ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบัน อีกทั้ง แนวโน้มการจำหน่ายบนแพลตฟอร์ม E-commerce ที่ผู้บริโภคสามารถสร้างประสบการณ์การเลือกเฉดสีจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) และ Augmented Reality (AR) ช่วยทำให้เห็นภาพห้องหรืออาคารก่อนดำเนินการทาสีจริง

แนวโน้มการพัฒนาอาคารที่ได้การรับรองมาตรฐานอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน (Building Energy Code : BEC) ที่บังคับใช้กับอาคารขนาดใหญ่ ทั้งที่เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ อาทิ โรงแรม ศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน โรงพยาบาล สถานศึกษา รวมไปถึงพื้นที่อยู่อาศัยที่เป็นอาคารชุดขนาดใหญ่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป จะเป็นปัจจัยหนุนความต้องการใช้งานสีทาอาคารที่ตอบโจทย์การอนุรักษ์พลังงานให้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นในระยะข้างหน้า อาทิ สีทาสะท้อนความร้อนและปรับอุณหภูมิภายในอาคารให้ต่ำกว่าการใช้สีทาอาคารทั่วไป ซึ่งจะช่วยลดการทำงานของเครื่องปรับอากาศ รวมถึงการใช้ผลิตภัณฑ์สีทาอาคารที่มีสารอินทรีย์ระเหยง่ายในปริมาณต่ำ (Low-VOCs) ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ด้านสุขภาวะที่สำคัญในการรับรองอาคารเขียวอย่าง LEED ที่เป็นมาตรฐานอาคารเขียวจากสหรัฐอเมริกา และ TREES ที่เป็นมาตรฐานอาคารเขียวของไทย

ทั้งนี้แนวโน้มการให้ความสำคัญกับการประหยัดพลังงาน รวมถึงสุขภาพของผู้อยู่อาศัยและสัตว์เลี้ยง ยังส่งผลให้ตลาดวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้รับความสนใจ และขยายตัวต่อเนื่องในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง สะท้อนจากผลสำรวจ Residential real estate survey 2024 โดย SCB EIC ที่พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ราว 50% มีความยินดีที่จะจ่ายเงินสำหรับซื้อวัสดุก่อสร้างประเภทดังกล่าวเพิ่มขึ้น 1-5% จากวัสดุก่อสร้างแบบดั้งเดิม โดยสีทาอาคารที่ผู้บริโภคมีแนวโน้มให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ สีทาภายในแห้งไวที่ปราศจากสารระเหยอินทรีย์ (Zero-Volatile Organic Compounds : Zero-VOCs) ที่ไม่ทำลายระบบทางเดินหายใจ หรือสีทาอาคารที่สามารถล้างทำความสะอาดได้ง่าย สีทาอาคารสะท้อนความร้อน ลดอุณหภูมิภายในอาคาร ที่นำไปสู่การประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้าในที่พักอาศัย นอกจากนี้ ยังพบว่ากลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ให้ความสนใจสีทาภายในที่ใช้งานง่าย สามารถทาเองได้โดยไม่ต้องจ้างช่างทาสี จากเทรนด์การตกแต่งบ้านด้วยตนเอง (Do It Yourself : DIY)
 

วรรณโกมล สุภาชาติ
นักวิเคราะห์
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)



[1] ได้แก่ บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัท นิปปอนเพนต์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท อั๊คโซ่ โนเบล เพ้นท์ส (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เบเยอร์ จำกัด, บริษัท โจตันไทย จำกัด, บริษัท กัปตัน โค๊ทติ้ง จำกัด, บริษัท สีเดลต้า จำกัด (มหาชน) และบริษัท เจ.บี.พี.อินเตอร์เนชั่นแนล เพ็นท์ จำกัด


บทความที่เกี่ยวข้อง
บลจ.กสิกรไทย คว้า 5 รางวัลยอดเยี่ยม Best of the Best Awards 2025  ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านกองทุนของไทย
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (บลจ.กสิกรไทย) ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติถึง 5 รางวัล จากงาน Best of the Best Awards 2025 ได้แก่ รางวัล Best Asset Management Company (30 Years)
18 เม.ย. 2025
ยูโอบี แนะนำรับมือกับความผันผวนของตลาดท่ามกลางภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ  และกลยุทธ์การจัดพอร์ตการลงทุนในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอน
การประกาศเรียกเก็บภาษีกับนานาประเทศใน วันปลดแอก โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ได้ทำให้ความตึงเครียดทางการค้าทั่วโลก ทวีความรุนแรงขึ้น และส่งผลให้ตลาดการเงินทั่วโลกผันผวนอย่างรุนแรง
18 เม.ย. 2025
กรุงเทพประกันชีวิต เปิดบ้านต้อนรับนักขายรุ่นใหม่  สร้างโอกาสกับ งานที่ใช่ ใช้ชีวิตที่ชอบ ในงาน Bangkok Life Grand Open House
กรุงเทพประกันชีวิต เตรียมจัดงานสัมมนาครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในปี 2568 Bangkok Life Grand Open House นำโดย คุณจักรพงศ์ แสงแก้ว ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายงานตัวแทนและที่ปรึกษาการเงิน ที่จะเปิดบ้านต้อนรับผู้บริหารตัวแทน ตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน
18 เม.ย. 2025
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy