เคทีซีรับเชิญปันความรู้ “การสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพและนวัตกรรม” กับนิสิตหลักสูตรเกาหลีศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เมื่อเร็วๆ นี้ นางสาวเจนจิต ลัดพลี ผู้บริหารสูงสุด ฝ่ายสื่อสารและประชาสัมพันธ์องค์กร เคทีซี หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้รับเชิญเป็นวิทยากรแลกเปลี่ยนความรู้ในหัวข้อ บทบาทของเคทีซีในการช่วยสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพและนวัตกรรม (Startup and Innovation) กับนิสิตระดับบัณฑิตศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลักสูตรสาขาวิชาเกาหลีศึกษาเพื่อการจัดการระหว่างประเทศ (Korean Studies for International Management-(KSIM) ณ อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม KTC Offer ที่เคทีซีริเริ่มและให้ความสำคัญในการส่งต่อความรู้นอกห้องเรียนให้กับสถาบันการศึกษาและองค์กรต่างๆ เพื่อการนำความรู้ที่เป็นประโยชน์ไปปรับใช้ในการเรียน การทำงานและการทำธุรกิจต่อไป อีกทั้งยังเป็นการต่อยอดความร่วมมือทางการตลาดระหว่างเคทีซีกับองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาหลี (KTO) และผู้ประกอบการธุรกิจสัญชาติเกาหลี ในการเผยแพร่และนำเสนอประสบการณ์การเดินทางท่องเที่ยวในแง่มุมต่างๆ ที่น่าประทับใจมายาวนานกว่า 6 ปี
เนื้อหาหลักในการบรรยายได้กล่าวถึงบทบาทของธุรกิจบัตรเครดิต ซึ่งนอกจากจะเป็นเครื่องมือทางการเงินที่ช่วยให้ผู้บริโภคบริหารการใช้จ่ายได้อย่างสะดวกสบายแล้ว ในอีกบทบาทหนึ่งยังช่วยสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็ก (SMEs) และธุรกิจสตาร์ทอัพให้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ และขยายช่องทางการขายได้กว้างขึ้นผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล KTC UShop (เคทีซี ยูช็อป) และแพลตฟอร์มบริการด้านการท่องเที่ยว KTC World Travel Service (เคทีซี เวิลด์ ทราเวล เซอร์วิส) ซึ่งมีฐานสมาชิกขนาดใหญ่กว่า 3 ล้านบัญชี นอกจากนี้ เคทีซียังสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กและ SMEs ให้สามารถเข้าถึงระบบการรับชำระสำหรับธุรกิจร้านค้าสมาชิกที่ปลอดภัยและได้มาตรฐานสากล (KTC Merchant) ซึ่งสามารถรองรับระบบการชำระเงินจากกระเป๋าเงินอิเล็คทรอนิกส์กว่า 10 ประเทศ
ผศ.ดร.กมล บุษบรรณ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรสหสาขาวิชา Korean Studies คณะบัณฑิตวิทยาลัย และอาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาเกาหลี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การบรรยายในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรสหสาขาวิชา เกาหลีศึกษาเพื่อการจัดการระหว่างประเทศ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นิสิต รวมทั้งเปิดโอกาสและเสริมสร้างความรู้ภาคการตลาดจากธุรกิจการเงินในประเทศไทย อย่าง เคทีซีที่ให้การสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพ ด้านการท่องเที่ยวนับเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะปัจจุบันความสัมพันธ์ไทย-เกาหลีเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านเศรษฐกิจ บันเทิงและเทคโนโลยี หลักสูตรการเรียนการสอนนี้จึงมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีความรู้ที่ลึกซึ้งและประยุกต์ใช้ในชีวิตได้จริง เพื่อต่อยอดไปสู่โอกาสในการทำงานและสร้างความร่วมมือในระดับนานาชาติ นักศึกษาที่จบหลักสูตรเกาหลีศึกษาจะสามารถประกอบอาชีพในหลากหลายสาขา เช่น การต่างประเทศ การแปลและล่าม ธุรกิจระหว่างประเทศ สื่อสารมวลชน และอุตสาหกรรมบันเทิง นอกจากนี้ยังสามารถศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
หลักสูตรสหวิชา เกาหลีศึกษาเพื่อการจัดการระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดสอนครั้งแรกในปีพ.ศ. 2551 กว่า 16 ปีที่ผ่านมาหลักสูตรได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น มีนิสิตชาวต่างชาติกว่า 80% ปัจจุบันมีจำนวนนิสิตที่จบหลักสูตรแล้วกว่า 125 คน หากสนใจศึกษาต่อ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://bit.ly/3WU12Ro หรือโทร 02-218-3960 และ 065-285-2436